“เซี่ยวยี” หุ่นยนต์รายแรกที่จีนพัฒนาขึ้นมาให้รักษาคนไข้ ศึกษาตำราแพทย์ 53 เล่ม หนังสือเกี่ยวข้องกับการแพทย์อีก 400,000 เล่ม พร้อมทั้งกรณีศึกษาอีก 2 ล้านกรณีกับภาพต่างๆที่เกี่ยวข้องหลายล้านรูปก่อนเข้าสอบข้อเขียนทางการแพทย์ เซี่ยวยีกวาดคะแนนได้ถึง 456 จากคะแนนเต็ม 600 ถือว่ามากกว่าคะแนนเบื้องต้นที่ต้องได้สำหรับการสอบผ่านที่อยู่ที่ 360 คะแนน
รายงานข่าวชิ้นนี้จากไชน่าเดลีระบุว่า เซี่ยวยีเป็นหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยชิงหัวกับบริษัท iFlytek ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา เป็นโครงการทดลองที่ร่วมมือกับโรงพยาบาลอานฮุย ผู้พัฒนาหุ่นตัวนี้ระบุว่า หุ่นสามารถมีความสามารถในการพิเคราะห์ปัญหาและเชื่อมมุมมองกับบริบทภาพรวมได้ สามารถศึกษา หาเหตุและผล ตัดสินใจได้ ในขณะที่อีกด้านมีความทรงจำที่เหนือกว่ามนุษย์ มีความสามารถในการสะสมข้อมูลมากกว่าตลอดจนมีทักษะด้านคอมพิวเตอร์มากกว่าด้วย
รายงานข่าวระบุว่า จากการเข้าสอบแสดงว่าความรู้ด้านการแพทย์ของเซี่ยวยีมีสูงมากพอจะทำหน้าที่หมอที่ดูแลอาการไข้แบบทั่วไปคือตรวจอาการและดูแลรักษาเบื้องต้นได้ ถึงกระนั้นเซี่ยวยีก็จะยังไม่ทำหน้าที่เป็นแพทย์อย่างทันทีทันใด แต่จะเป็นผู้ช่วยรักษาคนไข้ ต้นปีหน้านี้เซี่ยวยีจะต้องไปเข้ารับการอบรมเพิ่มเติม ทำงานในคลีนิคและทำงานกับแพทย์เพื่อช่วยเหลือและเรียนรู้ไปในเวลาเดียวกัน
รายงานของผู้ผลิตบอกว่า ประโยชน์ของการมีหมอหุ่นยนต์อย่างเซี่ยวยีก็คือจะทำให้การใช้เวลาในการพิจารณาอาการเจ็บป่วยสั้นลง และการตัดสินใจในการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่ได้ต้องการให้ทำหน้าที่แทนแพทย์ เพียงแค่ทำให้มนุษย์และเครื่องจักรทำงานประสานกันสอดคล้องมากขึ้นเพื่อประสิทธิภาพของการให้บริการแก่ผู้ป่วย รายงานข่าวระบุว่า จีนนั้นขาดแคลนแพทย์ที่จะทำงานในชนบทอย่างมาก ทำให้ต้องคิดประดิษฐ์หุ่นยนต์แพทย์ขึ้นมารองรับ
เวบไซท์ไอบีไทมส์รายงานว่า จีนกำลังตื่นตัวในเรื่องการใช้หุ่นยนต์ในการแพทย์ เมื่อไม่นานมานี้จีนเริ่มให้หุ่นยนต์ด้านการผ่าตัดรักษาฟัน จีนมีแผนระดับชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ที่จะต้องลงทุนถึง 152000 ล้านดอลลาร์เพื่อเป้าหมายในปี 2030