ไม่พบผลการค้นหา
สันติบาล 1 ออกระเบียบให้ช่างภาพ-สื่อมวลชนทำความเคารพก่อนและหลังถ่ายภาพนายกฯ แต่ห้ามห้อมล้อมและต้องอยู่ห่าง 5 เมตร คาดนายกฯ ไม่คุยกับสื่อ หลัง 'จากาตาร์โพสต์' เสนอบทความระบุ ผู้นำรัฐประหารไม่ควรนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ที่ฮอลล์ 5 - 7 อิมแพค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ช่วงเช้าวันนี้ (3 ส.ค.) และก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอิมแพค เมืองทองธานี ได้ทำตามตรวจค้นบุคคลที่จะเข้าร่วมงานอย่างละเอียดและเข้มงวด โดยทุกคนจะต้องเดินผ่านเครื่องสแกนวัตถุต้องสงสัย รวมทั้งต้องลงทะเบียนติดบัตรและติดสติ๊กเกอร์เพื่อแสดงว่าผ่านการตรวจเรียบร้อยแล้วทุกคน กระเป๋าและวัตถุแปลกปลอมจะต้องแสดงกับเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ได้มีความเข้มงวดกับสื่อมวลชนและช่างภาพที่จะเข้าปฎิบัติหน้าที่ภายในบริเวณงาน และเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 จัดทำใบลงทะเบียนสำหรับช่างภาพสื่อมวลชนโดยให้มีการลงชื่อ สังกัด และเบอร์โทรศัพท์อย่างชัดเจน รวมถึงจดเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และมีการเผยแพร่ข้อกำหนดเกี่ยวกับมารยาทในการถ่ายภาพของช่างภาพสื่อมวลชน ดังนี้

1.ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรีและแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ

2.การแต่งกายที่สุภาพบุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น

3. กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล

4. จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียนและผู้สื่อข่าวที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

5. ไม่แสดงกิริยาวาจาหรือมารยาทอันไม่สมควร

6.ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกรัฐมนตรี 5 เมตรเป็นอย่างน้อย

7. ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพหรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศีรษะผู้อื่น หรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามนายกฯ

สำหรับข้อควรปฎิบัติในการบันทึกภาพ 1.ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในห้องรับรอง 2.ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูง เช่น บันได 3. ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร 4. ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ ห้ามวิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลน หรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน 5.ให้บันทึกภาพได้เฉพาะในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม 6.การใช้ไฟฉายใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง 7.หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุด JAKARTA POST สื่อของอินโดนีเซียตีพิมพ์บทความเสนอแนะว่าอย่าให้ผู้นำเผด็จการทหารไทยนั่งเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า โดยเนื้อหาของบทความระบุว่า รัฐบาลทหารไม่คู่ควรกับตำแหน่งนี้ โดยเฉพาะท่ามกลางคลื่นที่แข็งแกร่งของความประชาธิปไตยในภูมิภาค

ทั้งนี้ บทความระบุว่า ประเทศไทยสมควรได้รับสิทธิ์ในเก้าอี้อาเซียน แต่ต้องไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ซึ่งยังคงยึดติดกับอำนาจที่ปล้นจากประชาชนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะนั่งเก้าอี้อาเซียนในปีหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ควรรักษาคำสัญญาในการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ไทยก็ไม่ควรมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งประธานเก้าอี้ในปีหน้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศที่จะไม่ตอบโต้และพูดประเด็นการเมืองในช่วงนี้ และคาดว่า จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เจ้าหน้าที่เข้มงวดกับการทำงานของช่างภาพและสื่อมวลชน

สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเอกสารกำหนดระเบียบมารยาทสื่อมวลชนทำข่าวนายกฯ

พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล 4 หรือ รอง ผบช.ส. กล่าวถึงกรณีที่มีเอกสารอ้างถึงกองกำกับการ 1กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1(บก.ส.1) กำหนดมารยาทและระเบียบการปฏิบัติของสื่อมวลชนในการถ่ายภาพและทำข่าวอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ ในการทำข่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โป 2018 ที่ Impact อารีน่าเมืองทองธานี ในวันนี้ (3 ส.ค.) ว่า พลตำรวจโท สราวุฒิ การพานิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) สั่งการให้ตรวจสอบแล้วว่าข้อเท็จจริงเป็น อย่างไร มีการออกข้อปฏิบัติจริงหรือไม่ และออกอย่างถูกต้องหรือไม่  

ทั้งนี้ โดยปกติการทำงานของตำรวจสันติบาลและสื่อมวลชนก็ปฏิบัติร่วมกัน โดยเข้าใจมาโดยตลอด ข้อปฏิบัติใดๆ ก็พูดคุยประสานงานกันด้วยดี ไม่ได้มีข้อกำหนดอะไรเป็นพิเศษแบบนี้ 

"โดยปกติแล้วอำนาจหน้าที่ในการดูแลปฏิบัติร่วมกับสื่อมวลชนในภารกิจของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ไม่ใช่ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1(บก.ส.1) ดังนั้นการปรากฏเอกสารที่อ้างว่าเป็นข้อบังคับข้อปฏิบัติ จาก บก.ส.1 ก็เป็นเรื่องไม่ปกติ" พล.ต.ต.ชยพล กล่าว

พร้อมกับ ระบุว่าตนยังไม่เห็นเอกสารตัวจริง จึงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง จริงหรือไม่ ทั้งนี้อยู่ระหว่างรอให้ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานชี้แจงขึ้นมา แล้วจะชี้แจงสื่อมวลชนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ระบุว่า พล.ต.ต.นพดล ศรสำราญ เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 1 และพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: