ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน ป.ป.ช. ห่วงสถานการณ์ดัชนีรับรู้ทุจริตของไทยยังไม่ดีขึ้น ต้องเร่งแก้ไข ดันหลักสูตรต้านทุจริตผ่านสถาบันการศึกษา 5หลักสูตร ตั้งเป้าในปี 2564 ค่าดัชนีรับรู้ทุจริตต้องถึงร้อยละ 50

วันนี้ (23 ก.ค.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานเปิดงานโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านการทุจริตศึกษา โดยระบุตอนหนึ่งว่า ดัชนีการรับรู้ด้านทุจริต หรือ CPI ปี 2559 และปี 2560 อยู่ลำดับที่ 101 และ 96 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวลและถือเป็นสถานการณ์ของการทุจริตที่อยู่ในระดับสูงจึงต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของที่มาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ซึ่งมุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างวัฒนธรรม การไม่ทนต่อการทุจริต การต่อต้านการทุจริต โดยบูรณาการผ่านสถาบันการศึกษา 

พล.ต.อ.วัชรพล ระบุว่า จะนำหลักสูตรการต้านทุจริตศึกษาสอดแทรกเข้าไปในระหว่างการศึกษา 5 หลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรอุดมศึกษา หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช. บุคลากรภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจ และหลักสูตรโค้ช ซึ่งหลักสูตรทั้งหมด ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปบังคับใช้ในสถาบันการศึกษา ผลักดันให้เป็นรูปธรรม 

พล.ต.อ.วัชรพล ระบุเพิ่มเติมว่า ภายในปี 2564 ป.ป.ช. ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการทุจริตเพิ่มคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI ให้ถึงร้อยละ50 ตามยุทธศาสตร์ ป.ป.ช.ระยะที่สาม สําหรับ ปัญหาการทุจริตที่น่ากังวล ยังเป��นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง จากการสำรวจของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า เงินลงทุนมหาศาล สูญเสียไปกับการทุจริต ปีละนับแสนล้านบาท จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ ป.ป.ช.ต้องเน้น การป้องกันการทุจริตมากขึ้น 

ประธาน ป.ป.ช.ย้ำด้วยว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีความเข้มงวดมากขึ้น จึงหวังจะเห็นนักการเมือง พรรคการเมือง ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต และหวังว่านโยบายของฝ่ายการเมืองในอนาคต จะไม่สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติโดยรวม สำหรับการกำกับ นโยบาย ตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.จะมีอำนาจเตือนไปยังหน่วยงานต่างๆผ่านทางคณะรัฐมนตรีว่าการดำเนินการมีความเหมาะสม หรือสร้างความเสียหายหรือไม่ จากนั้นหน่วยงานต่างๆ จะต้องชี้แจงกลับมาภายใน 90 วัน 

เช่นเดียวกับ การสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย ป.ป.ช. สามารถใช้มติ 2 ใน 3 เตือนไปยังหน่วยงานรัฐ หรือฝ่ายการเมือง ว่าการดำเนินนโยบายอาจสร้างความเสียหาย ดังนั้นบุคคลที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติจะต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: