ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ผู้จัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ซึ่งปีที่ผ่านมา ไทยมีคะแนนลดลง 3 จุด และตกจากอันดับ 76 ไปอยู่ที่ 101

นางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า องค์กรได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) เนื่องจากมีหลายประเด็นที่เห็นว่าการชี้วัดขององค์กรดังกล่าวมีอคติและไม่สอดคล้องกับความจริงในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นางจุรียืนยันว่า การถอนตัวครั้งนี้ไม่ใช่การประท้วงที่ประเทศไทยได้ค่า CPI ต่ำลงเมื่อปีที่แล้ว และไม่ได้รับการกดดันจากรัฐบาลให้ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด และองค์กรจะยังคงเดินหน้าสร้างจิตสำนึกต้านการคอร์รัปชันต่อไปเช่นที่เคยทำมา เพียงแต่จะยุติการเผยแพร่ดัชนี CPI ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

ท่าทีของเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ทำให้มีผู้ตั้งคำถามว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบและประเมินความโปร่งใสของประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยืนยันกับสื่อว่า การถอนตัวขององค์กรฯ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะเป็นเพียงการถอนตัวของภาคเอกชนไทยที่ประสานงานกับองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) เมื่อถอนตัวไปแล้ว คงจะมีหน่วยงานอื่นมาประสานงานแทน ไม่ส่งผลกระทบต่อการประเมินภาพรวมของไทย และคาดว่า TI จะประกาศดัชนี CPI ฉบับใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

000_Hkg9541474.jpg

ย้อนดูความโปร่งใสแบบ 'ไทยๆ' และ 'นานาชาติ'

มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2543 โดยประวัติขององค์กรระบุว่า นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และต้องการผลักดันให้องค์กรทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมพลังประชาสังคมที่ต้องการสร้างความโปร่งใสให้ประเทศไทย

ส่วนภารกิจหลักขององค์กร คือ การเสริมสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในสังคมไทย โดยผนึกกำลังกับภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ปัจเจกบุคคล และประสานความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายกับองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แม้จะไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ตั้งแต่เมื่อใดแน่ แต่ TI ได้รับความร่วมมือด้านการสำรวจและเก็บข้อมูลโดยองค์กรไทย นำไปสู่การประเมินผลและจัดอันดับความโปร่งใสโดยใช้ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ซึ่ง TI เริ่มจัดทำตั้งแต่ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา

รายงานสรุปผลดัชนี CPI ปีที่แล้ว ระบุว่า กัมพูชาและไทยเป็นประเทศที่สถานการณ์ความโปร่งใสย่ำแย่ลงมากที่สุด จากทั้งหมด 30 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก แต่ไทยมีประเด็นที่น่ากังวล เพราะการคอร์รัปชันถูกดึงไปเชื่อมโยงกับความวุ่นวายทางการเมือง

ปัญหาที่ทำให้ไทยได้คะแนนความโปร่งใสลดลง เป็นผลจากการใช้อำนาจกดดันในด้านต่างๆ ของรัฐบาล การขาดแคลนหน่วยงานหรือองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ขณะที่สิทธิหลายด้านตกอยู่ในภาวะเสื่อมถอย กระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศชาติ

เนื้อหาในรายงานยังกล่าวด้วยว่า ไทยประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดไปแล้ว ทั้งยังระบุว่าจะปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับผลักดันการกำกับดูแลอำนาจกองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เพื่อให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลพลเรือน แต่การถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดในพื้นที่สาธารณะกลับเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้ โดย TI อ้างอิงกรณีที่รัฐบาลทหารห้ามไม่ให้องค์กรอิสระสังเกตการณ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.2559 ทำให้ประชามติในครั้งนั้นถูกมองว่าขาดอิสระและไม่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างที่ควรจะเป็น

จำนำข้าวคืออะไรในเชิงนโยบาย

วิจารณ์หนักกว่านี้ก็มีมาแล้ว

คำยืนยันของนางจุรี ที่ระบุว่าการถอนตัวจากการเป็นสมาชิก TI ไม่ใช่การประท้วงที่คะแนนของไทยปีที่แล้วตกต่ำลง เป็นเหตุผลที่มีข้อมูลรองรับ เพราะไทยเคยถูกวิจารณ์หนักกว่านี้มาก่อนแล้วในรายงานสรุปผล CPI เมื่อปี พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นการประเมินโดยอ้างอิงข้อมูลในปี 2556 ที่เกิดการรวมตัวของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เพื่อต่อต้านรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

รายงานของ CPI ฉบับดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของไทย ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เพราะเจอภัยคุกคามทางการเมืองจนกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งย้ำว่า ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลยกขบวนไปปิดล้อมที่หน้าสำนักงาน ป.ป.ช. รวมถึงมีผู้ปาระเบิดมือเข้าใส่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้องค์กรอิสระอื่นๆ เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันโดยภาครัฐ

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปดูค่าดัชนี CPI ของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ไทยเคยได้อันดับต่ำสุดเมื่อปี พ.ศ.2556 อยู่ที่อันดับ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก มีคะแนน 35 เต็ม 100 ซึ่งเป็นช่วงสองปีหลัง TI เปลี่ยนตัวชี้วัดและเกณฑ์ในการประเมินผลดัชนี CPI จากเดิมที่เคยให้คะแนนเต็ม 10 ก็กลายเป็น 100 คะแนน ทั้งยังเพิ่มรายละเอียดของเกณฑ์การประเมินให้ครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น แต่ไม่เคยมีการทักท้วงจากองค์กรเครือข่ายในไทยต่อกรณีดังกล่าว จึงไม่อาจระบุได้ว่า ตัวชี้วัดที่มีอคติและไม่สอดคล้องกับความจริงในไทยคือประเด็นใดบ้าง

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่ที่อันดับ 101 ของดัชนี CPI ตกลงจากอันดับ 76 เมื่อปี 2559 และคะแนนก็ลดลงจาก 38 เหลือ 35 คะแนน ส่วนปีที่ไทยมีอันดับดีที่สุด คือ พ.ศ.2549 อยู่ที่อันดับ 63 จาก 163 ประเทศทั่วโลก และมีคะแนน 3.6 เต็ม 10


ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันย้อนหลัง 10 ปี
2006 อันดับที่ 63 คะแนน 3.6 (เต็ม 10)
2007 อันดับที่ 84 คะแนน 3.3 (เต็ม 10)
2008 อันดับที่ 80 คะแนน 3.5 (เต็ม 10)
2009 อันดับที่ 84 คะแนน 3.4 (เต็ม 10)
2010 อันดับที่ 78 คะแนน 3.5 (เต็ม 10)
2011 อันดับที่ 80 คะแนน 3.4 (เต็ม 10)
2012 อันดับที่ 88 คะแนน 37 (เต็ม 100)
2013 อันดับที่ 102 คะแนน 35 (เต็ม 100)
2014 อันดับที่ 85 คะแนน 38 (เต็ม 100)
2015 อันดับที่ 76 คะแนน 38 (เต็ม 100)
2016 อันดับที่ 101 คะแนน 35 (เต็ม 100)
2017 ??? คาดว่าจะประกาศเดือน ก.พ.61