ไม่พบผลการค้นหา
พล.อ.ประยุทธ์ หารือกับคณะเอกชนไทยที่ร่วมเดินทางไปฝรั่งเศส พร้อมหารือด้านความร่วมมือการค้า-การลงทุน หวังเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเป็นผู้เล่นรายใหม่ในภูมิภาค

ภายหลังจากสิ้นสุดภารกิจเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางต่อไปยังกรุงปารีสขของฝรั่งเศส เพื่อเตรียมพบกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในวันจันทร์ที่ 25 มิ.ย.

ประชาชนไทยในกรุงปารีสจำนวนหนึ่งได้เดินทางมาต้อนรับและให้กำลังใจ พล.อ. ประยุทธ์ ทั้งยังมีการพูดคุยและถ่ายภาพคู่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลแต่อย่างใด

ขณะที่วันนี้ (23 มิถุนายน 2561) พล.อ. ประยุทธ์ ได้ร่วมหารือกับคณะเอกชนไทยที่ร่วมเดินทางมายังฝรั่งเศส ตั้งแต่ประธานสภาอุตสาหกรรม หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย, บริษัทไทยยูเนี่ยนฟู้ดส์, Loxley, มิตรผล, PTT, GC, Sea Value, Double A, Michelin Siam, ป่าใหญ่ครีเอชั่น และทีวีบูรพา โดยหารือกันที่โรงแรม Westin ในกรุงปารีส พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนของไทยกับฝรั่งเศสได้ช่วยสร้างพลวัตที่สาคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอย่างยิ่ง 

ในการเยือนครั้งนี้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจและลงนามสัญญาระหว่างภาคเอกชนไทยกับฝรั่งเศสด้วยรวม 3 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาในการพัฒนาธุรกิจขนาดย่อย SMEs แลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า นโยบายและพิธีศุลกากร ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย หรือไอซีซี 

ประยุทธ์-ฝรั่งเศส-คนไทยในปารีสประยุทธ์-ฝรั่งเศส

(2) กรอบความร่วมมือสัญญาว่าจ้างติดตั้งระบบ Ditigalization และ Visualization ในการวิเคราะห์ข้อมูล ระหว่างบริษัท PTT GC กับ Dassault System และ (3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ระหว่างบริษัท Loxley กับ POMA เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพลังของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลและภาคเอกชนไทย คือ การเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสได้เป็นผู้เล่นรายใหม่ในภูมิภาค รวมถึงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านความร่วมมือในกรอบพหุภาคี เช่น ACMECS, CLMV และ ASEAN โดยจะเสนอเรื่องการสนับสนุนการลงทุนของไทยในฝรั่งเศสระหว่างการหารือกับนายมาครงในวันที่ 25 มิ.ย. และจะขอให้มีการขจัดปัญหา อุปสรรค ต่างๆ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ร่วมกันต่อไป 

ส่วนผู้แทนภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนในฝรั่งเศสว่ายังมีโอกาสและศักยภาพอีกหลายสาขา โดยภาคการลงทุนที่ฝรั่งเศสสนใจและสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ ภาคการเกษตรและชีวเศรษฐกิจ (Bio-Economy) โครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ Smart City พลังงานรูปแบบใหม่ การท่องเที่ยว และนโยบายผ่อนปรนเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) แต่ขณะเดียวกันก็ประเด็นที่เกี่ยวข้องที่จะต้องฝากให้รัฐบาลช่วยผลักดัน เช่น. กฎหมายภาษีของฝรั่งเศส ที่ควรแก้ไขให้มีการสนับสนุนการใช้วัตถุดิบจากไทย และการผลักดันเรื่องเขตการค้าเสรี FTA เพื่อสินค้าเกษตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: