ไม่พบผลการค้นหา
แม้จะอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของธุรกิจและเทคโนโลยี แต่ธนาคารไทย โดยเฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทั้งสิ้น 11 แห่ง ยังโชว์ผลงานการทำกำไรสุทธิในงวดครึ่งแรกของปี 2561 มูลค่าสูงถึง 109,427 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8

สำหรับธนาคารที่ยังคงแชมป์กำไรสุทธิเบอร์ 1 หลายปีซ้อนได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเดือนม.ค. -มิ.ย. 2561 กวาดกำไรสุทธิ 22,476 ล้านบาท แม้จะลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6 แต่ก็ยังเป็นที่หนึ่ง 

ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิสูงสุดลำดับรองๆ ลงมา ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิ 21,682 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13, ธนาคารกรุงเทพ 18,199 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11, ธนาคารกรุงไทย 14,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 12,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8, ธนาคารธนชาต 7,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15, ธนาคารทิสโก้ 3,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16, ธนาคารเกียรตินาคิน 3,064 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กำไรสุทธิ 1,279 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 

สังเกตได้ว่า ธนาคารที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกปี 2560 ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ส่วนธนาคารที่มีกำไรสุทธิติดลบ ได้แก่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ลดลงร้อยละ 25% ธนาคารไทยพาณิชย์ ลดลงร้อยละ 6 และธนาคารทหารไทย ลดลงร้อยละ 3

กรุงไทยกำไรโตเด่น 23% เหตุลดกันสำรองเผื่อหนี้สูญ ดันกำไรพุ่ง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการจัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยมีกำไรสุทธิไตรมาส 2/2561 ที่ 7,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 139 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สูญอยู่ที่ 6,769 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้งสำรองค่อนข้างสูงในลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่ง ขณะที่กำไรสุทธิของธนาคารในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 14,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 โดยสินเชื่อของธนาคารช่วงครึ่งแรกปี 2561 อยู่ที่ 1,959,549 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 1.1 จากสิ้นปีก่อน ขณะที่เงินฝากอยู่ที่ 2,040,349 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.47 จากเงินฝากประจำที่ครบกำหนด และเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถาม

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงไทยมีกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรก (ก่อนสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้) อยู่ที่ 33,199 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 9 อีกทั้ง รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ลดลง 2,636 ล้านบาท จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ประกอบกับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อที่ยังอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มขยายตัว ส่งผลให้อัตราผลตอบสุทธิสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) อยู่ที่ร้อยละ 3.09 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.45 ขณะที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ เพิ่มขึ้น 518 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเติบโตของค่าธรรมเนียมและบริการเริ่มชะลอตัวลงในไตรมาส 2/2561 จากผลการยกเว้นค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การโอนเงินข้ามเขต การโอนเงินต่างธนาคาร การจ่ายบิลค่าสินค้าและบริการเติมเงินผ่าน KTB netbank พร้อมกับที่ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1,554 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายโฆษณา ค่าใช้จ่ายเพื่อสำรองเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินธนาคาร ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น 

ส่วนธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ สูงถึงร้อยละ 83 คือมีมูลค่า 692 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนทำได้ 378 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเงินลงทุนและรายได้เงินปันผล

ซีไอเอ็มบี กำไรติดลบหนัก เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่ม

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงาน 6,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 412 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2560 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 5.2 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 10.0 และรายได้อื่นร้อยละ 12.6 

ขณะที่ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ 1.4 เป็นจำนวน 2,921.3 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 13.3  ส่งผลให้กำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี ลดลง 117.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 25 เป็นจำนวน 360.1 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 1

ไทยพาณิชย์เดินหน้าเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ไม่หวั่นกำไรลดลง 6%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล และการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง และธนาคารได้เตรียมพร้อมเป็นอย่างดีในการยกระดับขีดความสามารถเพื่อตอบรับโอกาสทางธุรกิจในยุคดิจิทัลผ่านโครงการ SCB Transformation 

ผลสำเร็จจากโครงการ SCB Transformation ในระยะแรกสะท้อนให้เห็นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของฐานลูกค้าดิจิทัล ความผูกพันของลูกค้ากับธนาคาร และต้นทุนที่ลดลงจากการย้ายไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล แม้การลงทุนนี้จะส่งผลต่อกำไรในระยะสั้นของธนาคาร แต่แนวโน้มของผลประกอบการมีการปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เนื่องมาจากการลงทุนและการเริ่มดำเนินโครงการสำคัญส่วนใหญ่ภายใต้ SCB Transformation จะเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ และธนาคารจะเริ่มรับรู้ผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :