นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า การดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่า สินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในปีที่ผ่านมา สินเชื่อรวมขยายตัว 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว 2% โดยเร่งขึ้นช่วงปลายปี
ขณะที่การขอสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนขยายตัว 4.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวมากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี สะท้อนสัญญาณที่ดี หลังจากสินเชื่อและการออกตราสารหนี้ขยายตัวต่ำกว่าจีดีพีมาหลายไตรมาส
เมื่อแยกประเภทของสินเชื่อ พบว่า สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากภาคธุรกิจมีทางเลือกในการหาแหล่งเงินทุน และจะใช้เงินกู้จากธนาคารในช่วงต้นโครงการในระยะเวลาชั่วคราว ก่อนจะไปออกตราสารหนี้ ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 6.1% จากสินเชื่อรถยนต์ที่เร่งตัวขึ้น ต่างจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิตที่มีแนวโน้มชะลอลง ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตัว 5.7% จากธุรกิจภาคอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และพาณิชย์
ด้านคุณภาพสินเชื่อ พบว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 2.91% จากสิ้นปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.83% อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลไตรมาส 4/2560 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.97% ขณะที่ยอดคงค้างเอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 4.29 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า 4.34 หมื่นล้านบาท ส่วนสินเชื่อจัดชั้นกลางถึงเป็นพิเศษ หรือ SM (ค้างชำระหนี้ 1-3 เดือน) ลดลงมาอยู่ที่ 2.55% จากปีก่อน 2.63% และมียอดคงค้าง 3.75 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาท
"ในสิ้นปี 2560 พบว่า เอ็นพีแอลมีการขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการหนี้ ผ่านการตัดขายหนี้ออกไป และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ก็มีแนวโน้ม โน้มตัวลง" นางสาวดารณีกล่าว
ดังนั้น เมื่อดูจากแนวโน้มที่ ธปท. จับตาดูอยู่ ทำให้เชื่อว่า เอ็นพีแอลในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีเริ่มมีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้สินเชื่อขยายตัวตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการดูแลคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อนุมานได้ว่า ในปี 2561 นี้ เอ็นพีแอลในภาพรวมน่าจะทรงตัว แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าห่วงคือ หากมีเหตุการณ์เฉพาะบางอย่างที่ยังไม่สามารถคาดได้เกิดขึ้น ก็อาจส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเอ็นพีแอลกลับพุ่งขึ้นได้
"สิ่งที่ห่วงคือเหตุการณ์เฉพาะ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเกิดก็จะมีผลดันให้เอ็นพีแอลกลับมาพุ่งขึ้นได้"
อีกประเด็นที่ห่วง เอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ล่าสุดอยู่ที่ 3.23% ขยายตัวจากสิ้นปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.93% ตัวนี้ยังไม่โน้มลง ต่างจากเอ็นพีแอลในกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคตัวอื่นที่มีแนวโน้มลดลงแล้ว เช่น เอ็นพีแอลสินเชื่อบัตรเครดิต มาอยู่ที่ 2.61% จาก 3.74% เอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.53% จาก 2.87% และเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 1.6% จาก 1.79% ในปีก่อนหน้า
"เอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตอนนี้ยังน่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับเอ็นพีแอลของสินเชื่อตัวอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ก็ยังดีที่ไม่ไหลลงเร็ว" นางสาวดารณีกล่าว
ปี'60 แบงก์หอบ กำไรทรุด ลดสาขา 200 แห่งคุมรายจ่าย
สำหรับการดำเนินงานในระบบธนาคารพาณิชย์ในปีที่ผ่านมา พบว่า มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น จากการบริหารหนี้สิน ขณะที่กำไรสุทธิลดลง -5.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 187,297 ล้านบาท
"กำไรสุทธิที่ลดลงเป็นผลจากแบงก์กันสำรองเพิ่มขึ้น แม้ว่าเอ็นพีแอลเริ่มทรงตัว แต่แบงก์ได้กันสำรองเพื่อเตรียมรองรับกับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 ที่จะนำมาใช้ในปี 2562 โดยการตั้งสำรองเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่นี้ แต่ละแบงก์จะสำรองต่างกันขึ้นกับพอร์ตสินเชื่อในแต่ละเซกเตอร์ที่แบงก์ปล่อยออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่แบงก์เตรียมการแต่เนิ่นๆ เพราะหากไปทำในปีกำหนดตามมาตรฐานใหม่ อาจมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของแบงก์มากจนน่าตกใจได้" นางสาวดารณีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารต้องปรับตัวหลายด้าน เพื่อรักษารายได้และบริหารรายจ่าย แต่สิ่งที่ยากคือการบริหารต้นทุน ดังนั้น หากแบงก์บริหารต้นทุนไม่ได้ แบงก์ต้องหาวิธีบริหารรายได้สร้างรายได้ เช่น จากการหาส่วนต่างกำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากในบางเซกเมนต์ การสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา แบงก์ยังสามารถสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้น แต่ปี 2561 อาจลดลง เพราะพบว่า สัดส่วนการโอนเงินของรายย่อยจากพร้อมเพย์เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบโดยตรงต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของแบงก์
"ปี 2561 นี้ จะเห็นชัดถึงผลกระทบเรื่องรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงไป เพราะที่ผ่านมา แบงก์มีรายได้จากดอกเบี้ยสัดส่วน 70% รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆ 30% ซึ่งในส่วนของ 30% นี้ มีรายได้จากค่าฟีการโอนเงินสัดส่วน 12% ปีที่ผ่านมา ส่วนนี้เติบโต 7% แต่ปีนี้คาดว่า น่าจะลดลง เพราะคนใช้พร้อมเพย์มากขึ้น จาก 0.1% ตอนนี้การโอนเงินรายย่อยผ่านพร้อมเพย์เติบโตถึง 15% และปี 2561 จะเป็นปีที่จะมีการใช้พร้อมเพย์โอนเงินในระดับธุรกิจกับธุรกิจมากขึ้น จากปีที่แล้วเป็นระดับบุคคล" นางสาวดารณีกล่าว
ด้วยปัจจัยเรื่องรายได้บางส่วนที่ลดลง ประกอบกับแนวโน้มของส่วนต่างดอกเบี้ย หรือ NIM ก็มีแนวโน้มลดลง จึงทำให้แบงก์ต้องปรับตัว เช่น การลดสาขา เพราะเป็นส่วนที่ใช้เงินทุนจำนวนมาก หรืออาจรวบสาขาที่ใกล้กันมาอยู่ด้วยกัน โดยปี 2560 ที่่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเปิดสาขาใหม่ 100 แห่ง ปิดสาขาเดิม 300 แห่ง ทำให้สุทธิแล้วมีสาขาลดลงประมาณ 200 แห่ง
"การลดสาขาของธนาคารพาณิชย์ ในเรื่องบุคลากรเราไม่ค่อยห้วง เพราะแต่ละแบงก์ย่อมมีวิธีบริหารของเขา แต่สิ่งที่ ธปท. เป็นห่วงและเข้าไปดูแลคือผลกระทบต่อลูกค้าผู้ใช้บริการมากกว่า"นางสาวดารณีกล่าว