เว็บไซต์ประชาไทเผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งปัจจุบันเป็นทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยซึ่งมักให้ความเห็นวิพากษ์โครงการและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. อย่างดุดัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงโครงการอีอีซีหรือโครการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด-ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งรัฐบาล คสช. หวังเป็นผลงานชิ้นเอก อดีต รมว. พลังงานบอกว่าเห็นด้วยว่าไทยต้องการเครื่องมือสร้างความเติบโต (Growth Engine) อีสเทิร์น ซีบอร์ดที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในอดีต ปัจจุบันถือว่าเต็มศักยภาพแล้ว จำเป็นต้องขยายพื้นที่ ผนวกกับผลพวงจากการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้ภาคตะวันออกมีความพร้อมกว่าภาคอื่นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ทำไมถึงเห็นด้วยกับอีอีซี
“ผมจึงเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลนี้ทำอีอีซีเพราะมันเป็นทางที่ถูกต้องและจำเป็น”
ทั้งนี้ นายพิชัยกล่าวว่าเนื่องจากหลังการรัฐประหาร ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักของไทยกลับไม่มีการลงทุนเลย นิกเคอิ รีวิว ระบุว่ามูลค่าการลงทุนหายไปกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ในปีแรกของการรัฐประหาร มองในแง่นี้ ต้องถือว่ารัฐบาลใช้เวลานานเกินไปกว่าจะคิดแก้ไขเรื่องนี้ กระนั้น ตัวเลขการลงทุนก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น
“รัฐบาลต้องถามตัวเองว่าทำไม เพราะตัวเลขตั้งแต่เปิดอีอีซีมาไม่ดีขึ้นเลย ไตรมาสแรกการลงทุนที่แท้จริงหายไป 2.7 หมื่นล้าน ซึ่งแปลก เปิดอีอีซีแล้ว แทนที่จะมีตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้น มีตัวเลขขอบีโอไอเพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีตัวเลขการลงทุนจริง กลับลดลงจากปีที่แล้ว ทั้งที่ปีที่แล้วก็แย่อยู่แล้ว ปีนี้กลับลดลงไปอีก แสดงว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่เวิร์ค
“รัฐบาลต้องกลับมาดูตัวเองว่าทำอะไรผิดพลาดหรือไม่ อย่างน้อยคุณต้องมีทิศทางที่ชัดเจนว่าใครจะมาลงทุนกับคุณแน่ๆ แต่ไม่มี บีโอไอที่ขอค้างไว้เป็นล้านๆ ก็ชะงักหมด เพราะจริงๆ ลงได้เลยทันทีกับคำขอที่ค้างอยู่หรือจะขอปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่กลับไม่มีใครลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัย แล้ว 4 ปีที่ผ่านมาคุณทำอะไร ทำไมจึงเพิ่งจะคิดทำตอนนี้”
จริงหรือที่ว่าตัวเลขการลงทุนจากญี่ปุ่นอาจจะลดลง แต่ตัวเลขการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้น
นายพิชัยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า จีนยังมีพื้นที่กว้างใหญ่ ยังต้องการการลงทุนในประเทศอีกมาก ดังนั้น จีนจะไปลงทุนต่างประเทศเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น การลงทุนต่างประเทศจึงไม่ใช่นโยบายหลัก ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนเต็มพื้นที่แล้ว นโยบายหลักคือการหาที่ลงทุนในต่างประเทศ แต่ผลพวงจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ญี่ปุ่นขนเงินไปลงทุนในประเทศอื่นในอาเซียนแทน
“แล้วคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) ก็ไม่เข้าใจว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไม่ถูกกันตั้งแต่อดีต พอคุณเป็นเขตญี่ปุ่น จีนกับเกาหลีก็ไม่อยากมาลงทุน เกาหลีไปลงทุนเวียดนามมโหฬารเลย ลงทุนในไทยนิดเดียว คุณสมคิดรับไม่ได้ คุณไม่เข้าใจความคิดความรู้สึกของนักลงทุน นักลงทุนเกาหลีลงทุนในเขตที่มีคนเกาหลีอยู่ ไม่ลงทุนในเขตที่จีนอยู่เพราะเขาไม่ถูกกับจีน คุณต้องไปตั้งเขตใหม่ให้เขา ถ้าคุณไม่เข้าใจ คุณก็จะสะเปะสะปะ”
สิทธิประโยชน์ ลดแลกแจกถามมากไปไหม กระทบผู้ประกอบการไทยหรือเปล่า
“อย่างอาลีบาบา คุณให้เขาเยอะแยะไปหมด แล้วธุรกิจออนไลน์ในอนาคตของไทยจะสู้กับอาลีบาบาได้อย่างไรเมื่อคุณให้สิทธิประโยชน์เขาเยอะขนาดนี้ คุณไม่ได้มองว่าอาลีบาบาเป็นธุรกิจที่จะมีการแข่งขันกับไทยด้วยหรือเปล่า”
“ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือถ้าเรามีโอกาสเป็นรัฐบาล เราจะทำอย่างไรให้อีอีซีเกิดผล ปัญหาหลักๆ ที่มันไม่เกิดผลคืออะไร ผมคิดว่าประการแรกคือการเจรจาการค้ากับประเทศหลักๆ อย่างอเมริกา อียู ออสเตรเลียยังทำไม่ได้ จึงเกิดข้อจำกัดว่าถ้ามาลงทุนแล้วจะขายใครได้หรือเปล่า จะเจอกำแพงภาษีหรือเปล่า ขณะที่ไปลงทุนประเทศอื่นสามารถมั่นใจว่าจะขายได้เพราะมีเอฟทีเอแล้ว
“เมื่อใส่ปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองเข้าไปก็ทำให้เป็นปัญหาต่อการลงทุน ผมคิดว่าประเด็นนี้มีส่วนอยู่ไม่มากก็น้อย เราก็ต้องพยายามสร้างความมั่นใจ แต่รัฐธรรมนูญก็ยังไม่รู้จะทำให้รัฐบาลในอนาคตมีปัญหาหรือเปล่า ถ้าเราสร้างความมั่นใจได้ รัฐบาลมีความมั่นคง มีทิศทางในการเจรจาการค้า ผมว่าโอกาสการลงทุนเพิ่มขึ้นก็มี เพราะประเทศไทยก็มีศักยภาพที่จะลงทุนอยู่แล้ว
“ส่วนตัวกฎหมายผมไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่ได้ดูในรายละเอียด อีอีซีโดยหลักการแล้วดี แต่ผมเชื่อว่ามีหลายเรื่องต้องแก้ไข บางเรื่องถ้าจะส่งผลกระทบต่อประเทศระยะยาว เช่น การข้ามเรื่องการทำอีไอเอ เอชไอเอ”
ทำไมต้องใส่ครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินเกี่ยวกับการรวมที่ดินมักกะสันเข้าไปในโครงการ
“การเอาที่ดินมักกะสันเข้าไปแถมในโครงการ ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ ที่ดินผืนนี้บางคนวิเคราะห์มูลค่าสูงถึง 2 แสนกว่าล้านบาท เมื่อ 10 กว่าปีก่อนยังประเมินไว้ที่ 80,000 กว่าล้านบาท คุณจะเอามาปนกันทำไม ที่คุณเอามาปนกันเพราะคุณมีผู้ชนะในใจแล้วหรือยัง ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน โครงการเชื่อมต่อสามสนามบินด้วยตัวโครงการเองน่าจะคุ้มทุนอยู่แล้ว การแถมที่ดินมักกะสันไม่ได้ให้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ถ้าจะใช้ประโยชน์ที่ดินผืนนี้ก็เปิดให้คนมาประมูล เพราะคนทำรถไฟอาจจะไม่ชำนาญการพัฒนาที่ดิน คนที่ชำนาญการพัฒนาที่ดินก็อาจไม่ชำนาญเรื่องรถไฟก็ได้ แบบนี้คุณก็ต้องไปหาคนที่ชำนาญทั้งสองเรื่องซึ่งมีไม่เยอะ มีคนในใจหรือเปล่า”
หมายเหตุ วอยซ์ออนไลน์ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ซ้ำ และอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ ประชาไท