ไม่พบผลการค้นหา
'พิชัย - วัฒนา' ชี้ลำดับความเหลื่อมล้ำของไทยแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาล คสช. ด้านรัฐบาลโต้รายงานดังกล่าวว่าใช้ข้อมูลเก่ามาเชื่อมโยงกับข้อมูลบางส่วนของปัจจุบัน ยืนยันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินงานต่อ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า ตามที่ The Credit Suisse Global Wealth Report 2018 ระบุ คนไทยร้อยละ 1 ถือครองความมั่นคั่ง หรือมีทรัพย์สินรวมร้อยละ 66.9 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก หลังจากเคยได้อันดับ 3 เมื่อ 2 ปีก่อน ที่คนไทยร้อยละ 1 ถึงครองความมั่งคั่งร้อยละ 58 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ โดยไทยแซงรัสเซียและอินเดียที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีขึ้น แต่ไทยกลับแย่ลง 

ทั้งนี้ ก่อนจะรัฐประหาร อันดับความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่อันดับที่ 11 แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการบริหารงานของรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งบริหารคนรวยยิ่งรวยขึ้น และ คนจนกลับยิ่งจนลงมาโดยตลอด เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะต่ำมากโดยเฉลี่ยโตปีละแค่ร้อยละ 2 กว่า และต่ำที่สุดในอาเซียนแล้ว รายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยอยู่แล้วยังไปกระจุกตัวอยู่กับคนรวยเท่านั้น


พิชัย นริพทะพันธุ์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ

ขนาดสื่อต่างประเทศเช่น บีบีซี ยังระบุว่า ร้อยละ 96 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นตกอยู่กับ คนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ยิ่งตอกย้ำปัญหา รวยกระจุก จนกระจาย ที่รัฐบาลพยายามจะปฏิเสธมาตลอด และยังแสดงให้เห็นอีกว่า โครงการประชารัฐที่รัฐบาลจัดให้บริษัทใหญ่เข้ามาร่วมช่วยเหลือประชาชนรายได้น้อยประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะกลับกลายเป็นว่าบริษัทใหญ่กลับรวยยิ่งขึ้น ในขณะที่ประชาชนกลับยิ่งจนลง 

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาของรัฐบาลโดยการแจกเงินไม่ได้ช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เพราะไม่ได้ทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างถาวร เป็นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ และหมดสมัยแล้วกับแนวคิดที่เหมือนแบบการให้ทาน ประชาชนต้องการโอกาสในการหารายได้ที่มั่นคง ทั้งที่รัฐบาลมีโอกาสสร้างรายได้อย่างมั่นคงให้กับประชาชนมากว่า 4 ปี แต่กลับไม่ทำอะไร ปล่อยให้ประชาชนลำบาก และเพิ่งจะมาแจกเงินโดยหวังว่าประชาชนจะดีใจที่ได้รับแจกเงินในยามยาก ทั้งๆ ที่ความยากลำบากน่าจะเกิดมาจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลเอง แถมยังเอาเงินภาษีของประชาชนมาแจกเสมือนหนึ่งเป็นการซื้อเสียงเพื่อหวังจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง และอาจจะต้องมาเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชนเพื่อมาชดเชยเงินที่แจกไป 

ทั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนลำบากกันอย่างมากใน 4 ปีกว่าที่ผ่านมา และคงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งมีแนวทางการกำจัดการผูกขาดให้หมดไปเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนทั้งประเทศ


รบ.โต้รายงานความเหลื่อมล้ำใช้ข้อมูลเก่า สวนทางความเป็นจริง

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย โดยอ้างอิงจาก Global Wealth Report 2018 ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ว่า

จากการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลที่รายงานฉบับนี้นำมาอ้างอิงเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 แล้วพยายามนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลบางส่วนของปีปัจจุบัน ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์และขาดความน่าเชื่อถือ และแหล่งข้อมูลที่ถูกนำไปวิเคราะห์ 2 แหล่ง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ก็ไม่มีส่วนใดที่แสดงถึงการถือครองมูลค่าทรัพย์สินของคนรวยร้อยละ 1 ในประเทศไทย


พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ประเทศที่ถูกนำมาเทียบส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ยกเว้นจีน อินเดีย อินโดนีเซีย โคลัมเบีย โรมาเนีย แอฟริกาใต้ และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มคนรวยที่สุดแตกต่างจากกลุ่มคนจนที่สุด ลดลงจาก 29.92 เท่าในปี 2549 เหลือ 19.29 เท่าในปี 2560

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การฝึกอาชีพเพิ่มทักษะ กองทุนการออมแห่งชาติ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เป็นต้น


'วัฒนา' ลำดับความเหลื่อมล้ำไทยคือหลักฐานประจานความล้มเหลวของรัฐบาล คสช.

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รายงานของ CS Global Wealth Report 2018 ที่บอกว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้เป็นอันดับ 1 ของโลกคือหลักฐานประจานความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. 

สองปีที่แล้วไทยอยู่อันดับ 3 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้โดยมีรัสเซียและอินเดียอยู่เหนือเรา แต่รัฐบาล คสช. ก็ได้ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยของไทยขยายกว้างมากขึ้น จนขยับมาเป็นอันดับ 1 ของโลก ผลสำรวจพบว่าเมื่อปี 2559 คนไทยร้อยละ 1 มีทรัพย์สินรวมร้อยละ 58 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ แต่ในปี 2561 คนไทยร้อยละ 1 กลับมีทรัพย์สินเพิ่มเป็นร้อยละ 66.9 แปลว่ามีเศรษฐีบางรายรวยขึ้นมากแต่คนไทยส่วนใหญ่จนลง 


วัฒนา.jpg

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย

หากดูนโยบายของรัฐบาลแล้วไม่น่าแปลกใจที่คนรวยมีเงินเพิ่มขึ้นแต่คนจนมีเงินน้อยลง เพราะเป็นนโยบายที่ใช้คนจนเป็นช่องทางส่งต่อประโยชน์ให้กับเศรษฐีบางราย เช่น การเติมเงินให้ซิมคนจนเบอร์ละ 50 บาทต่อเดือน ก็คือการเติมเงินให้เจ้าของค่ายมือถือผ่านคนจน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของฟอร์บที่พบว่ากลุ่มเศรษฐีที่รวยขึ้นคือกลุ่มที่เข้าร่วมกับโครงการประชารัฐ คนจนจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเงินไปยังคนรวยบางรายเท่านั้น 

นายวัฒนา ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ที่จริงแล้วการลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยควรทำให้คนจนมีรายได้และโอกาสเพิ่มขึ้นแต่ไม่ใช่ด้วยการสงเคราะห์ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เตรียมนโยบายซึ่งเคยพิสูจน์ให้เห็นว่าประสบความสำเร็จเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนแล้ว 

ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นการเลือกอนาคต หากอยากยากจนและเป็นพลเมืองชั้นสองต่อไปก็ไปเลือกฝ่ายเผด็จการ แต่หากอยากได้มืออาชีพไปบริหารงานก็ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง