ไม่พบผลการค้นหา
กรมประมง ชี้แจงปลาที่นำเข้าจากจังหวัดฟุกุชิมะจากญี่ปุ่นผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เป็นไปตามมาตรฐานนำเข้า ด้านเลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง อย.เผยชื่อร้านอาหารที่นำเข้าปลา

นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ชี้แจงกรณีที่เจแปนไทม์ส รายงานว่าประเทศไทยนำเข้าปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พื้นที่ประสบปัญหานิวเคลียร์รั่วไหลปนเปื้อนน้ำทะเล จากเหตุแผ่นดินไหว 9.0 และสึนามิเมื่อปี 2554 โดยกรมประมงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ที่ผ่านมาไทยนำเข้าเนื้อปลาจากทุกประเทศ รวมถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่มีการสั่งห้ามนำเข้า รวมถึงเมื่อปี 2554 ที่เกิดเหตุด้วย แต่ต้องดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานนำเข้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กำหนด รวมถึงการควบคุมมาตรฐานกัมมันตภาพรังสีด้วย

สำหรับขั้นตอนการนำเข้าปลาทุกชนิด เจ้าหน้าที่ด่านตรวจประมงจะต้องตรวจสอบตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงต้องเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบ หากผ่านเกณฑ์ก็จะอนุญาตนำเข้าได้

ส่วนสาเหตุที่มีข่าวดังกล่าวนั้น นางอุมาพร กล่าวว่า เป็นการโปรโมทของบริษัทผู้นำเข้าปลาดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นการนำเข้าปลาครั้งแรกของไทย นับจากปี 2554 ขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะแม้แต่ช่วงเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็มีการนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น หน่วยงานไทยมีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกับเรื่องนี้ด้วยว่า ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบด่วนว่ายังมีการตกค้างอยู่หรือไม่ และขอให้เปิดเผยใบรับรองของบริษัทนำเข้าที่รับรองว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อร้านอาหารที่จำหน่ายปลาทั้ง 12 ร้านให้ผู้บริโภคได้ทราบ เพื่อไม่ให้การค้าอยู่เหนือสุขภาพของทุกคน

ส่วนกรณีที่สำนักข่าวเจแปนไทม์สรายงานว่าเป็นการส่งออกปลาครั้งแรกในรอบเกือบ 7 ปี เป็นการพูดถึง 'ปลาจากฟุกุชิมะ' โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับปลาจากภูมิภาคอื่นๆ ของญี่ปุ่น โดยเว็บไซต์เจแปนไทม์สรายงานชัดเจนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งห้ามจับปลาในรัศมี 20 ก.ม.รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิหลังเกิดเหตุนิวเคลียร์รั่วไหลตั้งแต่ปี 2555 และเพิ่งมีมาตรการผ่อนผันคำสั่งห้ามจับปลา โดยลดจากรัศมี 20 ก.ม.เหลือเพียง 10 ก.ม.เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว หลังผลการสุ่มตรวจสอบคุณภาพปลาทะเลจากฟุกุชิมะตลอดปี 2558 พบว่าไม่มีสารกัมมันตรังสีตกค้างเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด

นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน ต่างก็มีมาตรการกีดกันสินค้าจากฟุกุชิมะ โดยอียูมีข้อเรียกร้องให้ผู้ส่งออกของญี่ปุ่นเปิดเผยรายละเอียดให้ชัดเจนในกรณีที่สินค้าต่างๆ มีวัตถุดิบหรือต้นทางการผลิตอยู่ในฟุกุชิมะ แม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ทุกประเภทได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว แต่ก็ยังมีกระแสต่อต้านเกิดขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรและชาวประมงในฟุกุชิมะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง