ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนต่อระบบงานสอบสวนของตำรวจ” จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่างเกี่ยวกับความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนในระบบงานสอบสวนของตำรวจ
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความโปร่งใสยุติธรรมของขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า 9.68 เปอร์เซนต์ระบุว่า มีความโปร่งใสยุติธรรมมากเพราะทำตามระบบและขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดีร้อยละ 39.60 เปอร์เซนต์ระบุว่า ค่อนข้างมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ มีระบบการทำงานที่ดี มีหลักฐานประกอบชัดเจน 35.20 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ไม่ค่อยมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ เกิดความล่าช้า มีข้อผิดพลาดค่อนข้างบ่อย มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้ระบบพวกพ้อง 14.64 เปอร์เซนต์ระบุว่า ไม่มีความโปร่งใสยุติธรรมเลย เพราะ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมในการสอบสวนได้ บางครั้งมีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน ชอบยัดข้อหาให้กับคนจน ถูกแทรกแซงการทำงานจากผู้มีอิทธิพล และเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และ 0.88 เปอร์เซนต์ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความมั่นใจต่อขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า 11.12 เปอร์เซนต์ ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะ มีระบบขั้นตอนการทำงานที่ละเอียด ชัดเจน และตำรวจทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว 37.20เปอร์เซนต์ ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะ มีระบบการทำงาน ที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และหลักฐานที่มี 40.56 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ มีการใช้ระบบพวกพ้อง มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง 10.72 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะ มีอำนาจของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง คนรวยมักหลุดพ้นคดี และ 0.40 เปอร์เซนต์ ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สุดท้ายเมื่อถามถึงแนวทางในการปรับปรุงงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 41.52 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ควรมีการบันทึกเสียงและภาพในระหว่างการสอบสวน เพื่อลดความผิดพลาดและเพิ่มความโปร่งใส รองลงมา 26.24 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ส่งเสริมด้านการมีจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ 20.00 เปอร์เซนต์ ระบุว่า กระจายอำนาจการสอบสวนไปให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยลดปริมาณงานของพนักงานสอบสวน ทำให้การสอบสวนคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในขณะที่ 17.36 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ให้พนักงานอัยการ มีบทบาทในกระบวนการสอบสวนคดีอาญาร่วมกับพนักงานสอบสวน 15.36 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ควรให้หน่วยงานภายนอกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ 15.28 เปอร์เซนต์ ระบุว่า แยกหน่วยงานสอบสวนออกจากตำรวจ 13.84 เปอร์เซนต์ ระบุว่า ออกกฎหมาย ที่รับรองความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนไม่ให้ถูกแทรกแซง 6.48 เปอร์เซนต์ระบุว่า เพิ่มบุคลากรด้านงานสอบสวนและงบประมาณให้เพียงพอ 1.84 เปอร์เซนต์ อื่น ๆ ได้แก่ พัฒนาระบบงานสอบสวนให้มีความรวดเร็วมากกว่านี้ เพิ่มทักษะให้ตำรวจ เช่น ความรู้ด้านกฎหมาย เรื่องคดีความให้หาข้อมูลในการสอบสวน ลงพื้นที่ หาพยานหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ลดอำนาจของตำรวจลง ขณะที่บางส่วนระบุว่าระบบงานสอบสวนดีอยู่แล้ว และไม่มีทางแก้ไขได้ และ2.88 เปอร์เซนต์ ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ