ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อรัฐบาลประกาศปี 2561 จะต้องไม่มี "คนจน" แล้วนิยามคำว่าคนจนในยุคปัจจุบัน พวกเขาคือใครกันแน่?

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนาไทยแลนด์ 2018 ว่าปี 2561 รัฐบาลจะเร่งดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ เป็นสัญญาณที่รัฐบาลประกาศสงครามกับความยากจน เหมือนในสมัยยุคของดร.ทักษิณ ชินวัตร ทางรัฐบาลคสช.หวังว่าฐานข้อมูลลงทะเบียนคนจนจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้

ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า "คนจน" ในนิยามรัฐบาลนั้นคือใคร? แล้วตรงกับนิยามของเส้นแบ่งความยากจนที่แท้จริงหรือไม่? แล้วแท้จริงพวกเขาต้องการอะไรที่สามารถเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อหลุดกรอบจากความยากไร้นี้ให้ได้กันแน่?

สำรวจให้ดีไม่แน่คุณอาจเป็น "คนจน" ยุคใหม่

ผู้สื่ิอข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ นาย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวโดยทั่วไปหากนิยามว่าใครคือ "คนจน" ในตัวชี้วัดระดับโลกมักจะกล่าวถึงคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน (Poverty line) ส่วนถ้าของไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้นิยามว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,170 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่มีใครสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จริงๆ

อนรรฆ กล่าวว่านิยามของคนจนตอนนี้ไม่อาจมองในแบบแข็งตัวได้ เพราะยังกลุ่มที่น่าสนใจกว่าคือ "กลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะลดระดับมาอยู่ในเส้นความยากจน" ( Precious Group) โดยกลุ่มเหล่านี้อาจจะเป็นกลุ่มลูกจ้างรายวัน ที่ไม่ได้มีสวัสดิการทางสังคมอื่นๆรองรับ เช่น เงินเก็บ ที่ดิน หรือบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้ไม่มีหลักประกันให้ตัวเองทั้งด้านความมั่นคงของชีวิต สาธารณสุข เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันก็จะทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนจนได้


อนรรฆ พิทักษ์ธานิน.jpg

ส่วนคนจนในนิยามของคสช. ที่กำหนดว่ามีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 1แสนบาท อนรรฆคิดว่าโดยปกติสูงกว่าเส้นความยากจนอยู่แล้วไม่แน่ใจว่ามาจากหลักเกณฑ์ใด ส่วนเรื่องการจัดเก็บฐานข้อมูลลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นมิติใหม่ในการใช้ระบบการจัดการข้อมูล แต่ก็ต้องดูว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน และมีการอัพเดตข้อมูลเรื่อยๆหรือไม่

อนรรฆ มองการจัดสวัสดิการว่าควรแบ่งเป็น 2 มิติ มิติแรกคือสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เช่น เรื่องการสาธารณสุข เป็นตัวรองรับเพื่อไม่ให้ประชาชนเจอปัญหาภาระจากค่ารักษาพยาบาลจนทำให้กลายเป็นผู้ยากไร้ ส่วนอีกมิติคือสวัสดิการเฉพาะกลุ่มที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มอยู่ใต้เส้นความยากจน เพื่อที่จะยกระดับให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่เกินเส้นความยากจน


คนไม่จนเอาบัตรคนจนไปทำอะไร ?


สำหรับกรณีบัตรคนจน อนรรฆมองว่าควรมองว่าเป็นมาตรการเสริมมากกว่า ปัญหาของการทำบัตรคนจนก็คือการผูกรวมสวัสดิการต่างๆไว้ด้วยกัน ซึ่งแท้จริงแล้วประชาชนแต่ละกลุ่มมีความต้องการการช่วยเหลือด้านสวัสดิการที่แตกต่างกัน เช่น ผู้สูงวัยอาจจะไม่จำเป็นเรื่องค่าเดินทางเท่ากับเรื่องสาธารณสุข หรือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีบุตรอาจจะต้องการสวัสดิการ เช่น ค่าเดินทางสำหรับบุตรหลานมากกว่า แต่จุดที่สำคัญคือบัตรคนจนไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยเลย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ เช่น เงินช่วยกรณีค่าเช่าบ้าน เป็นต้น

อนรรฆ มองอนาคตว่ามีแนวโน้มที่จะเกิด "กลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะลดระดับมาอยู่ในเส้นความยากจน" มากขึ้นหากดูจากปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะมาถึง รวมไปถึงลักษณะการจ้างงาน ทั้งกรณีที่เปลี่ยนจากงานประจำเป็นงานสัญญาจ้างมากขึ้น การใช้ระบบหุ่นยนต์เข้ามาแทน รวมไปถึงแรงงานไทยไม่สามารถยกระดับเป็นแรงงานมีฝีมือได้ โดยกลุ่มที่อยู่ล่างสุดก็อาจจะกลายเป็น "คนไร้บ้าน" ซึ่งเป็นฐานล่างสุดของคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนได้