กรมสรรพากรออกเอกสารเผยแพร่ระบุว่า ตามที่ได้มีการแชร์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าคนไทยขายของออนไลน์รัฐบาลนี้ออกกฎหมายขูดรีดภาษี แต่ยกเว้นภาษี 13 ปี ให้ 'แจ๊ค หม่า' มาลงทุนขายของออนไลน์ในไทยนั้น ขอชี้แจงว่า 1) ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการทางออนไลน์มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายปัจจุบันอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการที่มีร้านค้า รัฐบาลไม่ได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมแต่อย่างใด
2) ปัจจุบัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจทางออนไลน์ ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการลูกค้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและการแข่งขัน อันเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศอย่างครบถ้วน จึงทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ต้องเรียกเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเสียเปรียบ
3) กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีของอาลีบาบานั้น เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้ชี้แจงไปแล้วว่า "การได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ BOI ซึ่งสิทธิประโยชน์พื้นฐานจะแตกต่างกันไปตามประเภทกิจการ โดยกิจการประเภทเดียวกัน จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันการส่งเสริมการลงทุนจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมบุคลากรควบคู่ไปด้วย นอกจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานแล้ว ผู้ขอรับการส่งเสริมยังอาจได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนด การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้กับอาลีบาบานั้น BOI จะมีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศกำหนด ซึ่งมิได้เป็นการให้เฉพาะเจาะจงกับรายใดรายหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ"
นอกจากนั้น หากพิจารณาประเภทกิจการที่รัฐต้องการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะพบว่า ไม่ใช่กิจการที่แข่งขันกันกับผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการทางออนไลน์แต่อย่างใด
ยัน 'วัด' ไม่่ใช่นิติบุคคล ไม่ต้องเสียภาษี
อีกทั้งกรณีที่มีการแชร์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ว่ากรมสรรพากรจะเก็บภาษีจากวัด และต้องการให้พระทุกรูปเสียภาษีผ่านบัญชีกลางของวัดนั้น กรมสรรพากร ชี้แจงว่า 1) วัดมิได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ในการเสียภาษี ดังนั้น รายได้ที่วัดได้รับจึงไม่มีภาระภาษี และกรมสรรพากรไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบรายได้หรือตรวจสอบการเสียภาษีของวัดแต่อย่างใด
2) กรมสรรพากรได้จัดทำระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เพื่ออำนวยความสะดวกให้วัดและผู้บริจาคเงินที่ประสงค์จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่านั้น โดยเมื่อวัดกรอกข้อมูลการรับบริจาคบนระบบของกรมสรรพากรแล้ว วัดจะไม่มีภาระในการจัดทำใบอนุโมทนาบัตร รวมถึงผู้เสียภาษีก็ไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคเงิน เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้
3) ในส่วนของวัดที่มีการรับบริจาคผ่าน QR Code เป็นการให้บริการของธนาคารแก่วัดตามความสมัครใจของวัด ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกรมสรรพากร
4) สำหรับการกำหนดให้วัดต้องจัดทำบัญชี ลงบัญชีรายรับ รายจ่าย หรือรายการต่างๆ นั้น มิได้อยู่ในการกำกับดูแลของกรมสรรพากร และกรมสรรพากรก็มิได้มีนโยบายให้วัดต้องจัดทำบัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด กรมสรรพากรขอเรียนยืนยันว่า กรมสรรพากรไม่มีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีจากวัดหรือพระภิกษุสงฆ์แต่อย่างใด
ข่าวเกี่ยวข้อง :