ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางบก เผยผลการตรวจสอบรถสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร เดือนพ.ค. 61 ตรวจรถทั้งสิ้น 20,480 คัน พบกระทำความผิด 1,091 ราย เฉพาะรถแท็กซี่หมดอายุจับปรับถอดป้ายทันที 336 ราย ฟากทีดีอาร์ไอชงปรับปรุงค่าบริการทุก 2 ปี

นายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เพื่อให้การจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ กรมการขนส่งทางบกส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่กวดขันการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร เน้นมาตรการเฝ้าระวังตรวจจับ เปรียบเทียบปรับ ที่เข้มข้น จริงจัง ทันที

สำหรับเดือน พ.ค. 2561 ตรวจสอบการให้บริการรถแท็กซี่ รถตู้โดยสารสาธารณะ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ รวม 20,480 คัน พบการกระทำความผิดรวม 1,091 ราย แบ่งเป็นการตรวจสอบการให้บริการรถรถแท็กซี่จำนวน 10,462 คัน พบการกระทำความผิด 904 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ นำรถหมดอายุมาใช้ จำนวน 336 ราย ใช้รถไม่จดทะเบียน จำนวน 227 ราย ใช้รถไม่ตรวจรอบมิเตอร์ จำนวน 105 ฯลฯ ในส่วนของการตรวจสอบรถตู้โดยสารสาธารณะ 8,277 ราย พบการกระทำความผิด จำนวน 109 ราย ความผิดส่วนใหญ่เป็นเรื่องอุปกรณ์ส่วนควบไม่มั่นคงแข็งแรงไม่ถูกต้อง จำนวน 28 ราย

สำหรับการตรวจสอบรถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวน 1,741 ราย พบการกระทำความผิดจำนวน 78 ราย ความผิดส่วนใหญ่เป็นการนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาให้บริการ จำนวน 71 ราย ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามข้อหาความผิดทุกราย พร้อมส่งตัวเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการและสร้างความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อผู้โดยสารทุกคน พร้อมบันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ หากพบการกระทำความผิดในลักษณะเดิมพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป 

พร้อมกับย้ำว่ากรมการขนส่งทางบกดำเนินการเข้มงวดตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ทั้งในด้านความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการที่ดี ควบคู่กับการกวดขันจับกุมในทุกพื้นที่ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะกรณีนำรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนครบ 9 ปี ซึ่งครบกำหนดอายุการใช้งานตามกฎหมายมารับส่งผู้โดยสาร ซึ่งผู้ขับรถแท็กซี่ที่นำรถที่สิ้นอายุการใช้งานมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6(1) ประกอบมาตรา 59 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และต้องปลดป้ายทะเบียนออกทันที

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเพิ่มความมั่นใจความปลอดภัยในการใช้บริการแท็กซี่ ขอให้ประชาชนสังเกตรถแท็กซี่ก่อนเลือกใช้บริการโดยสภาพตัวรถภายนอกต้องมั่นคงแข็งแรง หมวดอักษรบนแผ่นป้ายทะเบียนรถที่ยังอยู่ในช่วงอายุการใช้งาน หมวด 'ท' ได้แก่ ทศ, ทษ, ทส, ทห กรณีเป็นรถแท็กซี่สีเขียวเหลือง หมวด 'ม' ได้แก่ มช, มฎ, 1มก, 1มข

ส่วนรถแท็กซี่ที่จะทยอยครบอายุการใช้งานภายในสิ้นปีนี้ ได้แก่ หมวด ทว และหมวด มฉ และรถแท็กซี่ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ได้แก่ ทจ, มก มข, มค, มง, มจ ทฉ,ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, และ ทล

ทีดีอาร์ไอชี้ปัญหาแท็กซี่เกิดจากข้อจำกัดด้านโครงสร้างต้นทุนและการประกอบการ 

ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก นำเสนอผลการศึกษาในการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาการพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่

นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ เสนอการวิเคราะห์ปัญหาคุณภาพการบริการของรถแท็กซี่ ทั้งเรื่องสภาพรถ พฤติกรรมพนักงานขับรถ การปฏิเสธผู้โดยสาร และการเรียกเก็บค่าโดยสารสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ว่ามีสาเหตุมาจากโครงสร้างของตลาด การประกอบการ และราคาที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการประกอบการ ส่งผลให้การพัฒนาและการรักษามาตรฐานคุณภาพการบริการเป็นไปได้ยาก ทั้งในระดับพนักงานขับรถ และระดับผู้ประกอบการ

พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาบริการรถแท็กซี่ในประเทศไทย โดยกำหนดมาตรฐานการให้บริการรถแท็กซี่ ทั้งในด้านการพัฒนาศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง การผลักดันให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ประกอบการภายใต้รูปแบบของนิติบุคคลที่เหมาะสม และการพัฒนาคุณภาพพนักงานขับรถแท็กซี่ โดยใช้ระบบคัดกรองผู้ขับรถ การอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการให้บริการที่มีคุณภาพ และการประยุกต์ใช้ระบบตัดแต้มผู้กระทำผิด เพื่อติดตามและประเมินผลพนักงานขับรถแท็กซี่

ส่วนการแก้ไขปัญหากลไกราคา มีความเห็นว่ายังสามารถคงอัตรา ค่าโดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไว้ดังเดิม แต่ควรเพิ่มค่าโดยสารตามระยะเวลาการเดินทาง แทนการคิดค่าโดยสารกรณีรถหยุดหรือเคลื่อนที่ได้ไม่เกิน 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะเวลารวมการเดินทางที่นาทีละ 50 สตางค์ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการจราจรที่ติดขัดในปัจจุบัน รวมถึงทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามปัจจัยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และปรับปรุงอัตราการบรรทุกผู้โดยสารของบริการรถแท็กซี่ทั้งระบบทุก 2 ปี เพื่อพิจารณากำหนดค่าโดยสารที่สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับบริการที่นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแบบแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันนั้น มีความจำเป็นที่ต้องมีระเบียบเพื่อกำกับดูแลการให้บริการ TNC ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดจากการบริการ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยให้มีการกำกับดูแล 4 ประเด็น ได้แก่

1) ผู้ให้บริการ TNC ต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตประกอบการกับกรมการขนส่งทางบกและเสียภาษี

2) รถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการต้องจดทะเบียนเพื่อให้บริการสาธารณะ และจัดให้มีการประกันภัยเป็นการเฉพาะ

3) ผู้ขับรถยนต์ที่ให้บริการ TNC ต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะเช่นเดียวกับรถแท็กซี่ทั่วไป

4) การกำกับดูแลด้านราคาที่ต้องออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการฉวยโอกาสและเอาเปรียบผู้โดยสาร 

ทั้งนี้ การกำกับดูแลดังกล่าวควรเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการให้บริการของรถแท็กซี่ปกติด้วยมาตรการอื่นๆ เช่น การกำหนดให้รถแท็กซี่ปกติเท่านั้นที่สามารถจอดรับส่งผู้โดยสารที่จุดจอดรถแท็กซี่จอดบนถนนได้ ฯลฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :