ไม่พบผลการค้นหา
แม้ว่าการเป็น 'ไอดอล' จะเป็นสิ่งที่เด็กผู้หญิงหลายคนปรารถนา แต่การเป็นไอดอลก็มาพร้อมๆ กับการถูกล่วงละเมิดสิทธิต่างๆ ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง และแทนที่จะเป็นโอกาส วงการนี้กลับสะท้อนความไม่เท่าเทียมของสังคมมากขึ้น

วงการอุตสาหกรรมไอดอล 'ญี่ปุ่น' ถือเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 26,400 ล้านบาท และยังเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาญี่ปุ่นกว่าปีละ 20 ล้านคน แต่เบื้องหลังของวงการนี้กลับเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิ การกดขี่ รวมไปถึงอาชญากรรมต่างๆ ที่มาพร้อมกับการเป็น 'ไอดอล' ของเด็กและวัยรุ่นหญิงหลายคน

นิยามของคำว่าไอดอล ถูกใช้เพื่ออธิบายเด็กผู้หญิง หรือ วัยรุ่น เยาวชน ที่เข้ามาอยู่ในวงการอุตสาหกรรมเพลงที่ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้พวกเธอสามารถร้อง เต้น เป็นพิธีกร เป็นนางแบบ รวมไปถึงการแสดงต่างๆ และเนื่องดัวยความเป็นไอดอลมักถูกตั้งความคาดหวังว่า ต้องเป็นบุคคลที่เพียบพร้อมที่สุด เป็นแบบอย่างให้แก่ทุกคนในสังคม ดังนั้นเด็กผู้หญิงที่เข้ามาในวงการดังกล่าว จึงเสมือนการเข้าสู่กระบวนการ 'การสร้างให้เป็นสินค้า' เพื่อตอบสนองต่อกลุ่ม 'โอตะ' หรือกลุ่มแฟนคลับที่คอยติดตามพวกเธอ ซึ่งกลุ่มโอตะเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายวัยกลางคนที่จะคอยติดตามพัฒนาการและความสำเร็จของ 'ไอดอล' ที่ตนเองสนับสนุนและชื่นชอบ


000_Del6323270.jpg

การเป็น 'ไอดอล' ถูก 'ละเมิด' อะไรบ้าง

พฤติกรรมต่างๆ ที่ไอดอลในวงการเพลงญี่ปุ่นแสดงออกมานั้น มีเป้าหมายเพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของวง ตั้งแต่การสร้างยอดขาย CD เพลง ของที่ระลึกต่างๆ รวมไปถึงการขายบัตรกิจกรรมที่จัดขึ้นของวงไอดอล และด้วยกำลังการซื้อจากกลุ่มโอตะ ทำให้ไอดอลเปรียบเสมือน 'สินค้า' ประเภทหนึ่งที่ต้องถูกควบคุมพฤติกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองกลุ่มโอตะ หรือ แฟนคลับไปโดยปริยาย

เด็กผู้หญิงเมื่อก้าวเข้ามาในวงการไอดอลแล้ว การเอนเตอร์เทนกลุ่มแฟนคลับเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากกลุ่มแฟนคลับเหล่านี้จะเป็นผู้ตัดสินและชี้วัดความนิยมและความสำเร็จของไอดอลคนนั้นๆ ได้ จึงทำให้ไอดอลหลายคนจะต้องคอยเอนเตอร์เทน หรือแสดงออกในด้านต่างๆ เพื่อให้กลุ่มแฟนคลับที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยกลางคนรู้สึกอยากติดตามเธออยู่ตลอดเวลา


000_Hkg9859558.jpg

กิจกรรมพบปะกลุ่มแฟนคลับ หรือ กิจกรรมจับมือ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของไอดอลเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกและจินตนาการให้แก่เหล่าแฟนคลับที่ติดตามเธอมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาในการเป็น 'ไอดอล' เด็กผู้หญิงกลุ่มนี้จะถูกห้ามไม่ให้มีแฟน และไม่อนุญาตให้ออกเดต เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการทำลายจินตนาการของเหล่าโอตะ หรือแฟนคลับ และกลุ่มโอตะมักอ้างว่า การที่ไอดอลมีแฟน หรือไปออกเดต จะเป็นการทำลายความสนใจในการพัฒนาตนเองในเรื่องการแสดงและความสามารถต่างๆ อีกด้วย

นอกจากการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวแล้ว วงการอุตสาหกรรมไอดอลยังเป็นวงการที่กดขี่ค่าแรงของการจ้างงาน ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมการใช้แรงงานอื่นๆ และเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกรายหนึ่งของวงไอดอลชื่อว่า 'เอโนฮะเกิร์ลส์' ฆ่าตัวตายหลังจากเข้าวงได้ 2 ปี และครอบครัวของสมาชิกคนดังกล่าวเรียกร้องให้ทางต้นสังกัดชี้แจงข้อเท็จจริงในการทำงานในฐานะไอดอล โดยระบุว่าในการออกงานครั้งหนึ่ง ไอดอลต้องทำงานติดต่อกันถึง 10 ชั่วโมง และแทบจะไม่มีวันหยุด

ในวงการไอดอลญี่ปุ่น สมาชิกที่อายุน้อยที่สุดเริ่มตั้งแต่ 13 ปี และไอดอลแต่ละคนจะได้รับเพียงแค่เงินเดือนเท่านั้น แม้ว่าพวกเธอจะสามารถสร้างรายได้สูง หรือทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานเด็กเท่าไหร่นัก และในทางกลับกันไอดอลนักร้องจากฝั่งตะวันตกอย่าง บริทนีย์ สเปียร์ส สามารถทำเงินได้ถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 528 ล้านบาทเมื่อตอนอายุ 16 ปี 

อาชญากรรมพุ่งสูงขึ้นตามการเติบโตของวงการไอดอล

ปีที่ผ่านมามีรายงานการคุกคามและอาชญากรรมที่กระทำต่อเด็กผู้หญิงญี่ปุ่นมากถึง 20,000 กรณี โดยเฉพาะการคุกคามจากกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมสะกดรอยตาม (Stalker) ไม่นับกรณีที่มีการข่มขืน อาชญากรรมอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


AFP-AKB48-เอเคบี48

กระบวนการทำให้เด็กผู้หญิงกลาย 'ไอดอล' และนำไปสู่การกลายเป็น 'สิ่งของ' ที่เหล่าโอตะ หรือกลุ่มแฟนคลับที่สามารถจับต้องได้ รวมไปถึงสร้างความรู้สึกให้เหล่าโอตะได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ 'สิ่งของ' เหล่านี้มีสาเหตุสืบเนื่องจากกระบวนการต่างๆ ที่เหล่าโอตะได้มีส่วนร่วมสร้างความสำเร็จให้แก่ไอดอล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวจุดประกายให้บางคนกระทำพฤติกรรมคุกคาม สะกดรอยตาม จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และร้ายแรงที่สุดอาจนำไปสู่การฆาตกรรมเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อปี 2014 สมาชิกวง AKB48 ถูกคุกคามอย่างหนักจนได้รับบาดเจ็บจากกลุ่มแฟนคลับในงานพบปะแฟนคลับ และเมื่อปีที่ผ่านมา มายู โทมิตะ ไอดอลญี่ปุ่นถูกแทงถึง 20 แผลจากแฟนคลับที่คลั่งไคล้เธอ

ในสังคมญี่ปุ่น การเป็น 'ไอดอล' จึงเป็นมากกว่าการขูดรีด แต่ได้สร้างอันตรายและความเสี่ยงที่นำไปสู่ความรุนแรงประเภทต่างๆ ให้แก่เด็กและวัยรุ่นผู้หญิงหลายคน สืบเนื่องจากความ 'บ้าคลั่ง' ของเหล่าแฟนคลับ หรือกลุ่มโอตะของกลุ่มไอดอล ถึงขั้นที่ต้นสังกัดของบางวงต้องออกแถลงการณ์เตือนโอตะไม่ให้ทำพฤติกรรมสุดโต่งหลายประการ เช่น อย่าวิ่งไล่ตามรถของไอดอล อย่ากระโดดกอดหรือพุ่งเข้าใส่ไอดอล รวมถึงอย่าใช้ปืนลมไล่ยิงเจ้าหน้าที่ของวงซึ่งพยายามจัดระเบียบในงานอีเวนต์ต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

พวงพรรณ ภู่ขำ
25Article
0Video
0Blog