ไม่พบผลการค้นหา
ระวังตกกับดักดราม่า! คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง วิเคราะห์ความต่างของกระบวนการผลิตไอดอลเกาหลี vs ญี่ปุ่น ในเรียลิตี้ไอดอลมาแรงล่าสุด

“เนก-กอ-ยา เนก-กอ-ยา เนก-กอ-ยา~”

ช่วงนี้ผู้อ่านหลายท่านคงได้ยินเพลงนี้บ่อยเป็นพิเศษ หรือถ้าไม่เคยฟังอย่างน้อยก็ต้องได้เห็นเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์แชร์เกี่ยวกับรายการอะไรสักอย่างที่ผู้หญิงหน้าตาน่ารักเยอะๆ แล้วก็มีเลข 48 โผล่มาบ่อยๆ ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดเรื่อง รายการ PRODUCE 48 นั่นเอง

สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย ขอแนะนำอย่างสั้นๆ ว่า PRODUCE 48 คือซีซั่นที่สามของรายการ PRODUCE 101 ของช่อง Mnet ซึ่งเป็นรายการแนว Idol Survival จากเกาหลีใต้ที่เอาไอดอลมากมายหลายชีวิตมาแข่งขันกันจนได้สมาชิกกลุ่มสุดท้ายที่จะเดบิวต์อย่างเป็นทางการ ความพิเศษของ PRODUCE 48 อยู่ที่ผู้เข้าแข่งขันมีทั้งเด็กฝึกจากค่ายเพลงเกาหลี และสมาชิกวง AKB 48 (และเครือวง 48 อีกมากมาย) จากฝั่งญี่ปุ่น

เพียงแค่ประกาศคอนเซ็ปต์กระแสดราม่าก็มาทันที เป็นที่รู้กันมานานว่าแฟนเพลงฝั่ง ‘เค’ (K-pop) กับฝั่ง ‘เจ’ (J-pop) ไม่ค่อยจะถูกกันเท่าไร มีวิวาทะกันตามโลกไซเบอร์อยู่บ่อยครั้ง เช่น เรื่องเกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่นท่าเต้นด๊องแด๊งเหมือนงานโชว์โรงเรียน อีกฝั่งก็สวนทันทีว่าวงเกาหลีน่ะเอาแต่ลิปซิงค์กับใช้ออโต้จูน อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่ฟังเพลงทั้งสองฝั่งโดยไม่ต้องเอาตัวเองไปปวดหัวกับเรื่องดราม่าก็มีเยอะเช่นกัน

ขณะที่ แฟนเพลงสองฟากกำลังข่มและขิงใส่กัน PRODUCE 48 ก็ปล่อยซิงเกิ้ลเปิดตัวของรายการชื่อว่า Nekkoya หรือ You’re Mine (เธอเป็นของฉัน) ออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม


จากเพลงนี้เราจะเห็นได้ว่า Nekkoya ใช้ส่วนผสมของสไตล์เพลงเคป๊อปและเจป๊อปได้อย่างลงตัว ท่อนฮุคที่ร้องซ้ำๆ ราวกับสะกดจิตเป็นกลยุทธ์ที่ฝั่งเกาหลีใช้มานาน (ให้นึกถึงเพลง Sorry Sorry และ Gee) ส่วนทำนองเพลงจะ ‘แบ๊ว’ กว่าปกติ ทั้งที่ปกติเพลงเคป๊อปจะออกไปทางแรงๆ เฟียร์ซๆ แต่อย่างที่เราเห็นกันว่าเวลาศิลปินเคป๊อปไปออกซิงเกิ้ลที่ญี่ปุ่น เพลงก็จะน่ารักกว่าเพลงในเกาหลี

ต่อมาในเดือนมิถุนายน รายการก็ปล่อยหมัดฮุคอันที่สอง นั่นคือเพลง Nekkoya ในเวอร์ชันชุดซ้อม

จากคลิป Nekkoya ทั้งสองแบบ ทำให้เรายิ่งเห็นความต่างระหว่างฝั่งเกาหลีกับญี่ปุ่น คลิปเต็มไปด้วยความอลังการหวือหวา ทั้งเวทีรูปเพชรขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่ได้ การยิงเลเซอร์แบบกระหน่ำ หรือจังหวะตัดคลิปเร็วระรัว จนอดสงสัยไม่ได้ว่าระหว่างถ่ายทำต้องมีกล้องกี่ตัวและทีมงานกี่คน ซึ่งถ้าใครเคยดูรายการของญี่ปุ่นจะทราบดีว่าไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้เลย ลองนึกถึงรายการอย่าง Music Station ก็ได้ ฉากมักตกแต่งอย่างง่ายๆ ออกไปทางแห้งแล้งและตกยุค บางคนถึงขั้นพูดว่าคลิปแบบ Nekkoya นี่แหละเป็นอะไรที่ญี่ปุ่นไม่มีวันทำได้ (หรือไม่ใส่ใจจะทำ)

01.jpg

เมื่อ PRODUCE 48 เริ่มออนแอร์ ความแตกต่างระหว่างสองชาติก็ยิ่งถ่างออกมากขึ้น ตอนแรกของรายการเป็นการประเมินคะแนนจากการออดิชั่นที่ให้เกรด A ถึง F ผลออกมาว่าผู้แข่งขันญี่ปุ่นจำนวนมากได้อยู่กลุ่ม D หรือ F และแทบไม่มีใครได้ A เลย สาเหตุหลักๆ มาจากการเต้นที่ไม่แข็งแรงหรือไม่พร้อมเพรียง หนึ่งในกรรมการถึงขั้นออกปากถามว่า “ที่ญี่ปุ่นการเต้นให้พร้อมกันนี่ไม่สำคัญเหรอ?” ฝ่ายนักร้องจากญี่ปุ่นก็ตอบว่าพวกเราเน้นความน่ารักมากกว่า


ทำไมถึงแตกต่างกันนัก?

ที่มาของความต่างนี้ มาจากกระบวนการผลิตศิลปินที่ไม่เหมือนกัน ใน ฝั่งเกาหลีนั้นกว่าจะเดบิวต์ได้ต้องเป็นเด็กฝึกที่เทรนอย่างยาวนาน (หลายรายมากกว่า 5 ปี) พวกเขาและเธอจะต้องฝึกอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะการร้อง การเต้น เรียนภาษา รวมไปถึงเซนส์ด้านวาไรตี้ อย่างที่เราเห็นว่าเวลานักร้องเกาหลีไปออกรายการโทรทัศน์ หากพิธีกรขอให้เต้นโชว์ เปิดเพลงปุ๊บพวกเธอก็สามารถเต้นได้ทันทีอย่างไม่เสียเวลาเคอะเขิน

ส่วน ฝั่งญี่ปุ่น ศิลปินจะเดบิวต์ตั้งแต่อายุยังน้อย (บางรายอายุเพียง 11 ปี) ชูจุดเด่นด้านความสดใสของวัยสาว ส่วนเรื่องการฝึกหัดก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ในช่วงที่มีผลงาน โดยคอนเซ็ปต์หลักของทาง AKB48 จะเน้นไอดอลที่เข้าถึงง่าย พวกเธอจะไม่ได้เก่งหรือสวยตั้งแต่แรก แฟนๆ จึงรู้สึกเอาใจช่วยและผูกพัน ขณะที่ไอดอลเกาหลีจะครบเครื่องมากกว่า แต่บางทีก็มีข้อเสียว่าดูเหมือนๆ กันไปหมดจนหาคนที่โดดเด่นได้ยาก

ระบบเช่นนี้ยังทำให้ไอดอลญี่ปุ่นรีไทร์ (หรือที่เรียกว่า ‘จบการศึกษา’) ตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ เพราะเข้าวงการตั้งแต่ตอนวัยมัธยมต้นหรือปลาย ขณะที่ไอดอลเกาหลีจะลาวงการก็ตอนอายุยี่สิบปลายหรือสามสิบ


รายการ "ปั่น" ดราม่า

ช่วงที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ รายการ PRODUCE 48 ออกอากาศไปได้สองตอน สิ่งที่ชัดเจนคือรายการเน้นความดรามาติกอย่างไม่ปิดบัง เช่นตอนสองเราได้นั่งดูเหล่าไอดอลร้องไห้เกือบตลอดรายการ ทั้งจากความเหนื่อย ท้อแท้ หรือผิดหวัง อย่างไรก็ดี หากเราสังเกตให้ดีแล้วการตัดต่อของรายการมีลักษณะแบบ ‘บิดดัด’ (Manipulate) พอสมควร

การบิดดัดอย่างง่ายๆ เห็นได้จากตอนหนึ่งที่เป็นการออดิชั่นเพื่อรับเกรด คนที่ออดิชั่นเสร็จแล้วจะได้ป้ายบอกเกรดแปะบนเสื้อ ส่วนคนที่ยังไม่ได้ออดิชั่นก็จะไม่มีป้าย แต่มีหลายครั้งที่มีการเบลอป้ายเกรดบนเสื้อของไอดอลที่นั่งอยู่บนแสตนด์ผู้ชม นั่นก็แปลว่าการออนแอร์ของการออดิชั่นอาจจะไม่ได้เรียงตามลำดับที่เกิดขึ้นจริงในสตูดิโอ มีการตัดต่อลำดับของการออดิชั่นใหม่ แต่นี่ก็ไม่ใช่การ Manipulate ที่เป็นประเด็นอะไร เป็นการไล่เรียงกราฟอารมณ์เสียมากกว่า

อีกตัวอย่างคือตอนสอง เด็กฝึกเกาหลีของทีมเกรด B พากันไปมุงดูวิดีโอซ้อมเต้น แต่พวกไอดอลญี่ปุ่นเข้าไม่ถึง มองไม่เห็น จนการอาการงอนๆ กัน แต่ภายหลังมีการปรับความเข้าใจกันและยอมรับว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดทางภาษา ในช่วงนี้รายการโฟกัสไปที่ จูรินะ มัตสึอิ สมาชิกคนดังจาก SKE48 ด้วยทั้งการใช้ Iris Shot (ภาพวงกลมที่เน้นจุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษ ส่วนที่อยู่นอกวงกลมจะเป็นสีดำ) กับจูรินะ ตามด้วยการสัมภาษณ์เดี่ยวเธอ จนทำให้สถานการณ์นี้ดูดราม่าขึ้นมา ทั้งที่เราก็ไม่รู้หรอกว่า ณ ตรงนั้นเกิดอะไรขึ้น จริงๆ จูรินะอาจจะไม่พอใจแค่ 20% แต่การนำเสนอของรายการอาจทำให้เธอดูหงุดหงิด 60%

00.jpg

หรือล่าสุดชาวเน็ตก็จับโป๊ะ Mnet ได้ในตอนที่สองของรายการ โดยช่วงที่ดาวเด่นเต็งหนึ่งอย่าง ซุกระ มิยาวากิ ซ้อมเต้นเดี่ยว มีการตัดภาพไปยังไอดอลเกาหลีที่พยักหน้าด้วยความชื่นชม แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าคนที่นั่งข้างๆ ไอดอลเกาหลีคนนั้นก็คือซากุระเอง! กลายเป็นว่าทีมตัดต่อพยายามจะโยกย้ายฟุตเทจไปมาเพื่อบิลด์อารมณ์ แต่ก็พลาดเรื่องไทม์ไลน์เสียเอง

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของการ Manipulate เท่านั้น เชื่อว่าตอนต่อๆ ไปของ PRODUCE 48 จะต้องมีการขยี้ดราม่าหนักกว่านี้เป็นแน่ ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้ชมที่เคยผ่าน PRODUCE 101 สองซีซั่นแรกมาล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อินได้ เชียร์ได้ แต่ระวังอย่าตกเป็นเหยื่อ ‘กับดักดราม่า’ ของรายการนี้ก็แล้วกัน