ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2560 พบว่า 142 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ขณะที่ประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรักและปากีสถาน ยังคงมีการประหารเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2560” (Death Sentences and Executions in 2017) ที่ระบุว่า แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2560 มีประชาชนอย่างน้อย 993 คนที่ถูกประหารชีวิตใน 23 ประเทศ โดยตัวเลขเหล่านี้ไม่ครอบคลุมการประหารชีวิตหลายพันครั้งที่เกิดขึ้นในจีน ซึ่งทางการถือว่าข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ



2_DP_World_map2017_final_Media-01.jpg

ในปี 2560 มีการตัดสินโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 2,591 ครั้งใน 53 ประเทศ โดย 50 ประเทศได้พิพากษาประหารชีวิต หรือประหารชีวิตประชาชนในคดียาเสพติด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีการประหารชีวิตในคดียาเสพติดสูงสุด ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดนี้สูงสุด คือ 10 จาก 16 ประเทศ และจนถึงสิ้นปี 2560 ยังคงมีนักโทษประหารอยู่ทั่วโลกอย่างน้อย 21,919 คน

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ปัจจุบันมี 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมาได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่



5-DP_Stats_social_Top5_Final_SM.jpg


ข้อมูลจากรายงานล่าสุดระบุว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามยังคงประหารชีวิตประชาชนในปี 2560โดยสิงคโปร์ประหารชีวิตประชาชนแปดคน ในขณะที่มาเลเซียมีอย่างน้อยสี่คนที่ถูกประหารชีวิต ส่วนเวียดนามมีแนวโน้มการประหารชีวิตที่สูงที่สุดในภูมิภาค แม้ทางการจะไม่ได้มีการเปิดเผยสถิติการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ เนื่องจากตัวเลขการประหารชีวิตถือเป็นความลับทางราชการ จึงไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเปิดเผยว่า ไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ในปี 2560 มีการตัดสินโทษประหารชีวิต 75 ครั้ง ถือว่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ที่มีถึง 216 ครั้ง แม้ว่าประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่มีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่เก้าที่ไม่มีการประหารชีวิตจริง

“ขณะนี้ประเทศไทยใกล้จะกลายเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว หากไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันครบสิบปี องค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะกลายเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย”

สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ระบุว่ามีนักโทษประหารชีวิตทั้งหมด 502 คน เป็นชาย 414 คน หญิง 82 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด



1.jpg

“แอมเนสตี้ อินเต��ร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชน โดยประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ และเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิต รวมทั้งให้ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต”

อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น