เว็บไซต์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติระบุว่า ในคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2560 นี้จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก หรือที่มักเรียกกันว่า Super Full Moon โดยในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลก ที่ระยะห่าง 357,973 กิโลเมตร ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงปกติ ประมาณ 6.3 เปอร์เซนต์ สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 17.50 น. โดยประมาณทางทิศตะวันออกเป็นต้นไป
Super Full Moon เป็นปรากฎการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงในตำแหน่งใกล้โลกทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ
สำหรับช่วงปกตินั้นดวงจันทร์จะมีระยะห่างเฉลี่ย 382,000 กิโลเมตร แต่สำหรับ Super Moon นั้นดวงจันทร์จะมีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา และ Micro Moon หรือดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 400,000 กิโลเมตรขึ้นไป
ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร
การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลของนักดาราศาสตร์พบว่าการเกิดปรากฏการณ์ Super Full Moon นั้นจะเกิดขึ้นทุกๆ ดวงจันทร์เต็มดวง 14 ครั้ง หรือประมาณ 411.8 วัน