สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง คืนวันที่ 31 มกราคม 2561 เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่พิเศษสุดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกิดในช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลกและตรงจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือน จะเห็นจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า “ซูเปอร์บลูบลัดมูน” ในประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 น. เป็นต้นไป เวลาคราสเต็มดวง 19:51-21:07 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 23:08 น.
ทั้งนี้ จากสภาพท้องฟ้าที่เอื้ออำนวยเมื่อคืนวานนี้ ทำให้หลายพื้นที่ อาทิ เชียงใหม่ สงขลา กรุงเทพมหานคร สุพรรณบุรี พิษณุโลก ชุมพร สมุทรสาคร นครราชสีมา ปทุมธานี ราชบุรี อุบลราชธานี ยะลา พัทลุง สระบุรี นนทบุรี กาฬสินธุ์ สมุทรปราการ กาญจบุรี ฯลฯ สามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงได้อย่างชัดเจน โดยทุกจุดสังเกตการณ์ ที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา และลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา สงขลา มีประชาชนแห่ชมอย่างล้นหลาม
อย่างไรก็ตาม จันทรุปราคาเต็มดวงจะกลับมาให้คนไทยได้ชมกันอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 คราสเต็มดวงในช่วงเวลา 02:30 - 04:13 น.
นอกจากนี้ในคืนวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ยังเป็นคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งไกลโลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่างประมาณ 406,086 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า “Micro Full Moon”