ไม่พบผลการค้นหา
โรงพยาบาลตรัง ใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบการให้บริการผู้ป่วย บันทึกข้อมูลผู้ป่วยด้วยระบบคอมพิวเตอร์และลงทะเบียนผู้ป่วยด้วย“ตู้อัจฉริยะ” สร้างความแม่นยำ ลดขั้นตอนการทำงาน ลดระยะเวลาการรอคอยของผู้ป่วย

แพทย์หญิงจิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยโรงพยาบาลตรังเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ ในแต่ละวันมีผู้ป่วยใช้บริการ เป็นจำนวนมาก จึงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่จะช่วยลดความแออัด และทำให้เกิดความคล่องตัว ทั้งด้านการใช้บริการของผู้ป่วยและการให้บริการของเจ้าหน้าที่ จึงได้ดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุขด้วยการใช้ ระบบ Internet of Things (IOT) พัฒนาการให้บริการประชาชนและผู้ป่วยที่เข้ารับบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในโรงพยาบาล ผลที่ได้พบว่าสามารถให้บริการทำบัตรแก่ผู้เข้ารับบริการได้อย่างรวดเร็ว จำนวนถึง 2,000 – 2,200 คนต่อวัน ลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดระยะเวลาการรอคอย เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และสามารถประมวลผล ให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลใช้บริหารจัดการได้ทันเวลา

75190.jpg

โดยในการปรับระบบการดำเนินงานนั้น โรงพยาบาลตรัง ได้ยกเลิกการใช้บัตรผู้ป่วยแบบกระดาษ (OPD Card) เป็นการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และจัดเก็บข้อมูลเก่าของผู้ป่วยด้วยการสแกนเอกสาร (Scan) ลงในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลใหม่และเก่าเข้าด้วยกัน เป็นไปตามนโยบาย “โรงพยาบาลไร้กระดาษ” (Paperless) ของกระทรวงสาธารณสุข โดยจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษ ลดค่าใช้จ่ายกระดาษและหมึกพิมพ์ และลดพื้นที่สำหรับการจัดเก็บเอกสาร

75205.jpg

นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบลงทะเบียนผู้ป่วยด้วย “ตู้อัจฉริยะ” (Kiosks) เครื่องมือที่ถูกออกแบบให้ช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อลดเวลาของการรอคอยการลงทะเบียน มีความแม่นยำและเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล โดยลักษณะการทำงานของตู้อัจฉริยะ สามารถลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ – รับบัตรคิวอัตโนมัติ – ตรวจสอบนัด – ตรวจสอบสิทธิการรักษา และมีระบบการแจ้งเตือนหากถึงคิวการรับบริการและการรับยา ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line) โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนั่งรอ รวมถึงจะมีการเตือนล่วงหน้า 1 วัน ก่อนถึงวันนัด นอกจากนี้ระบบยังสามารถให้บริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพและข่าวสารที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

75206.jpg

ทั้งนี้ ผลของการดำเนินงานพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ช่วยลดการรอคอยการลงทะเบียน ลดการรอคอยหน้าห้องตรวจได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยสามารถบริหารจัดการเวลาระหว่างรอพบแพทย์ได้ และแพทย์สามารถตรวจผู้ป่วยได้เสร็จก่อนเวลาที่กำหนด เนื่องจากกระบวนการเป็นไปอย่างคล่องตัว และมีการประมวลผลข้อมูลอย่างทันท่วงที