ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นยกเลิกการแสดงของวง BTS บอยแบนด์ดังจากเกาหลีใต้ หลังสมาชิกรายหนึ่งสวมเสื้อพิมพ์ลายระเบิดประมาณู ซึ่งถูกทิ้งในญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไม่ใช่วงแรกที่เจอกรณีแบบนี้

สถานีโทรทัศน์อาซาฮีของญี่ปุ่น ประกาศยกเลิกการแสดงของวง BTS ซึ่งตามกำหนดแล้วจะต้องออกอากาศในรายการ 'มิวสิก สเตชั่น' ทั่วประเทศญี่ปุ่น วันนี้ (9 พ.ย.) โดยทางสถานีให้เหตุผลว่า 'จีมิน' สมาชิก 1 ใน 7 คนของวงบีทีเอส สวมเสื้อพิมพ์ลายระเบิดปรมาณู ซึ่งถูกทิ้งในญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 

นอกจากนี้ จีมินยังสวมเสื้อดังกล่าวในวันที่ 15 ส.ค.ปีที่แล้ว ตรงกับวันครบรอบการปลดแอกเกาหลีใต้จากการยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อปี 2488 โดยบนเสื้อมีข้อความว่า "PATRIOTISM OURHISTORY LIBERATION KOREA" ซึ่งพูดถึงความรักชาติ และประวัติศาสตร์การปลดแอกเกาหลี โดยภาพที่จีมินสวมเสื้อดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ในญี่ปุ่นช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีรายงานว่าวงบีทีเอสจะเดินทางไปแสดงที่สถานีโทรทัศน์อาซาฮี

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในญี่ปุ่นหลายรายถกเถียงกันเรื่องเสื้อที่จีมินใส่ โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อว่า @YuJett ระบุว่าการกระทำของสมาชิกวงบีทีเอสเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่เป็นเรื่องของมนุษยธรรมล้วนๆ เนื่องจากระเบิดปรมาณูที่ถูกกองทัพสหรัฐฯ ทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมะและเมืองนางะซะกิของญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระเบิดปรมาณูในการทำสงคราม และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนคน

สถานีโทรทัศน์อาซาฮีได้ออกแถลงการณ์ขอโทษแฟนเพลงวงบีทีเอส ที่จำเป็นจะต้องยกเลิกการแสดงในรายการมิวสิกสเตชั่นออกไป พร้อมระบุว่า ทางผู้จัดรายการจะหารือกับทางต้นสังกัดของวงบีทีเอส และจะแจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


'ประวัติศาสตร์บาดแผล' ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ทั้งเอเอฟพี อัลจาซีรา และบีบีซี รายงานว่าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น เป็นผลพวงจากที่ญี่ปุ่นเคยยึดครองเกาหลีใต้ช่วงปี 2453-2488 จนกระทั่งญี่ปุ่นถูกกองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูโจมตีจนต้องประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่การประกาศเอกราชของเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม การชำระประวัติศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศยังไม่อาจบรรลุข้อตกลงได้จนถึงปัจจุบัน โดยรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคมในเกาหลีใต้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นชดเชยและยอมรับความผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวเกาหลีใต้ในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองดินแดน ทั้งกรณีหญิงบำเรอชาวเกาหลีใต้ถูกบังคับให้บริการทหารญี่ปุ่น รวมถึงการบังคับใช้แรงงานชาวเกาหลีใต้เยี่ยงทาสบนเกาะฮะชิมะซึ่งบริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่นเป็นผู้สร้าง 

เมื่อปี 2558 รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลเกาหลีใต้ว่าจะแถลงขออภัยอย่างเป็นทางการ และจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นหญิงบำเรอในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีใต้ แต่กลุ่มเครือญาติหญิงบำเรอและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของเกาหลีใต้ราว 2 แสนคนรวมตัวคัดค้านข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการรวบรัดเจรจาโดยรัฐบาลทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ได้ปรึกษาหารือหรือถามความสมัครใจจากผู้เกี่ยวข้อง

การเคลื่อนไหวต่อต้านข้อตกลงดังกล่าวทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้รับปากว่าจะพิจารณาทบทวนและเจรจาเงื่อนไขในการชดเชยเยียวยากับรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้ง แต่ทางการญี่ปุ่นมองว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัจจัยทางการเมืองภายในของเกาหลีใต้

นอกจากนี้ ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นหลายรายยังปฏิบัติตามธรรมเนียมชาตินิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ยังคงทำพิธีเคารพดวงวิญญาณของชาวญี่ปุ่นผู้เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะ 'วีรชนผู้กล้า' ซึ่งพิธีดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ประเทศที่เคยได้รับผลกระทบจากการยึดครองของญี่ปุ่น ทั้งจีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไต้หวัน

AFP-ผู้ประท้วงเกาหลีใต้เรียกร้องให้ยุติการใช้ธงอาทิตย์อุทัยของญี่ปุ่น.jpg

(ผู้ประท้วงชาวเกาหลีใต้เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ธงอาทิตย์อุทัยของญี่ปุ่น)


BTS ไม่ใช่ศิลปินรายแรกที่เจอข้อกล่าวหานี้

การรณรงค์เชิดชูเรื่องความรักชาติของชาวเกาหลีใต้และชาวญี่ปุ่น เป็นสาเหตุให้เกิดกรณีขัดแย้งและการวิพากษ์วิจารณ์ที่ส่งผลกระทบต่อบุคลากรในวงการบันเทิงเกาหลีใต้หลายครั้ง เนื่องจากแฟนคลับของอุตสาหกรรมบันเทิงเคป๊อปครอบคลุมไกลหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นทำให้กรณีพิพาทเกิดขึ้นในกลุุ่มประชาชนทั้งสองประเทศ

เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สตีเฟน ยอน นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีใต้ ผู้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง Burning และเป็นที่รู้จักทั่วโลกจากบทบาทในละครซุด The Walking Dead ในสหรัฐอเมริกา ถูกชาวเกาหลีใต้จำนวนมากประณามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากยอนเคยสวมเสื้อที่มีลายธงอาทิตย์อุทัย หรือ Rising Sun Flag ปรากฏตัวผ่านสื่อ

ธงดังกล่าวถูกชาวเกาหลีใต้จำนวนมากมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองประเทศ ทำให้มีกระแสต่อต้านยอนและภาพยนตร์เรื่อง Burning ซึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเกาหลีใต้ ทำให้ยอนต้องแถลงขออภัย โดยเขาให้เหตุผลว่าเติบโตมาในสังคมอเมริกัน จึงไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นละเอียดอ่อน 

นอกจากนี้ 'จีดรากอน' สมาชิกวงบอยแบนด์ Bigbang ซึ่งเป็นวงชื่อดังอีกวงหนึ่งของเกาหลีใต้ ถูกผู้ใช้เน็ตวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นเดียวกัน หลังจากที่เขาสวมเสื้อที่มีธงอาทิตย์อุทัยปรากฏตัวผ่านสื่อในปี 2557

ทั้งนี้ กลุ่มชาตินิยมเกาหลีใต้ได้เคลื่อนไหวรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้ยกเลิกหรือระงับการใช้งานธงอาทิตย์อุทัยของญี่ปุ่น โดยเปรียบเทียบธงดังกล่าวกับสัญลักษณ์สวัสดิกะของนาซีเยอรมนี ซึ่งถูกรัฐบาลเยอรมันสั่งแบนในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: