ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.การกฎหมาย' ทำหนังสือถึงนายกฯ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้ 'พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย' ให้ทัน 22 ก.พ. ชี้ สตช. อ้างอุปกรณ์ไม่พร้อม ไม่ใช่ข้ออ้างขอชะลอกฏหมาย

วันที่ 19 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำโดย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ และกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ร่วมกันแถลงถึงกรณมีราชกิจจานุเบกษากำหนดให้บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ซึ่งจะมีผลภายในวันที่ 22 ก.พ.

โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ภายในกรรมาธิการฯ ดังกล่าว ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามตามความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วยผู้แทนจาก กอ.รมน. อัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทุกหน่วยงานให้คำยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566

อย่างไรก็ตาม สตช. ได้แจ้งว่ามีเหตุขัดข้อง โดยส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาดังกล่าว เป็นเหตุให้คณะกรรมาธิการมีความกังวลใจ จึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ออกคำสั่งบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยได้ส่งเป็นหนังสือไปแล้ววันนี้

อาดิลัน ยังกล่าวถึงผลการประชุมกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ซึ่งได้เคยยืนยันต่อที่ประชุมกรรมาธิการฯ ว่า สตช. มีความพร้อมจะบังคับใช้กฎหมาย แม้ว่าอุปกรณ์จะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นอุปสรรค โดยงบประมาณที่ สตช. จำเป็นต้องใช้ ประมาณ 3,000 ล้านบาทเพื่อซื้อกล้องสำหรับติดตั้งให้เจ้าพนักงาน และตามสถานที่ต่างๆ ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดต้องใช้ 100 กว่าล้าน เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรต้องใช้งบกลางเพื่อดำเนินการดังกล่าว ซึ่งทุกหน่วยงานก็เห็นพร้อม

ในส่วนของกล้องติดตามตัวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกังวลนั้น แม้กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดว่าให้ต้องบันทึกภาพเสียงทันที ตั้งแต่เป็นการควบคุมตัว จนกระทั่งปล่อยตัวกลับ หรือนำส่งพนักงานสอบสวน แต่กรณีความผิดซึ่งหน้า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างทาง แล้วอาจไม่ต้องบันทึกภาพเสียงก็ได้ เพราะเป็นเหตุจำเป็น มีข้อยกเว้นตามกฎหมายอยู่แล้ว

ด้าน กมลศักดิ์ ชี้ว่า กฎหมายฉบับนี้กว่าจะผ่านสภาใช้เวลายาวนานมาก แต่เมื่อใกล้จะประกาศใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหน่วยงานเดียวกับขอชะลอเวลา กรรมาธิการฯ ได้ประชุมแล้ว เห็นว่ายังไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ทำให้ขยายเวลาได้ แม้จะออกเป็นพ.ร.ก. ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็น พ.ร.บ. เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.ก. อีกทั้งเหตุผลที่อ้างมา ยังไม่เข้าองค์ประกอบของการออก พ.ร.ก.แต่อย่างใด