วันที่ 12 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีการลงนามคำสั่งขอให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ทั้งที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาหลายเดือนแล้ว และยังไม่ได้บังคับใช้ทันทีเนื่องจากต้องรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อชะลอให้หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมตัว
ทว่าข้อกังวลหลักของ สตช. ที่เกรงว่าจะดำเนินการไม่ได้ คือกระบวนการควบคุมตัวผู้ต้องหา ที่บังคับให้ติดกล้องบันทึกภาพไว้ เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าเป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นมาตรการทั่วไปของหลายๆ ประเทศ
"เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ ผบ.ตร. กลับบอกว่า ถ้าจะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้จะต้องมีการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพและเสียงจำนวนมาก แล้วต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐนับแสนนายเปิดระยะเวลาเท่านี้ไม่เพียงพอจึงต้องการให้มีการชะลอออกไปก่อน ซึ่งเชื่อว่าให้เลื่อน พ.ร.ฎ.ประกาศใช้ออกไป ซึ่งในความเห็นตนไม่สามารถทำได้"
ทั้งนี้ อนุกรรมาธิการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทน สตช. โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มาชี้แจง และได้ย้ำว่า สตช. มีความพร้อมจะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ความไม่พร้อมของอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะไม่ทำตามกฎหมายฉบับนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ตอบชัดเจนว่าสามารถปฏิบัติตามได้ หากมีข้อขัดข้องใดก็ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพแก้ปัญหาไปก่อน หรือหากจำเป็นต้องซื้อกล้องจริงก็สามารถเบิกงบกลางมาใช้ก่อนได้
"ตกลงท่านเป็นไบโพลาร์หรือ เอาอย่างไรกันแน่ รอง ผบ.ตร. เป็นตัวแทนมาชี้แจงต่ออนุกรรมาธิการ ท่านบอกอย่างชัดเจนว่าพร้อม แล้วเราก็ให้คำแนะนำไปด้วยว่าใช้งบกลางได้ แต่พอมาเวลานี้ท่านกลับทำหนังสืออีกแบบหนึ่ง"
ภายใต้การบริหารงานของ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนปัจจุบัน ล้มเหลวถึงที่สุด ทั้งในเรื่องของการตรวจประเมินอาชญากรรม ทุนจีนสีเทา หรือกรณีคดีหลงจู๊ ก็ขาดประสิทธิภาพ แล้วแค่ปฏิบัติตามกฎหมายของฝ่ายสภา ก็ยังทำไม่ได้อีก แล้วจะเป็น ผบ.ตร. ไปทำไม กว่าจะได้กฎหมายนี้มา ต้องผ่านความยากลำบาก มีผู้ได้รับผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กลับตอบปฏิเสธง่ายๆ แค่นี้ จะรับผิดชอบกับความสูญเสียอย่างไร
รังสิมันต์ ฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ อย่าใช้วิชามาร ออก พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนกฎหมายฉบับนี้ออกไป ซึ่งประเทศไทยได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก การกระทำเช่นนี้จึงถือเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเปรียบเหมือนไร้กระดูกสันหลังต่อสายตาต่างประเทศ ที่ออกกฎหมายที่ดีมาแต่ไม่บังคับใช้
รังสิมันต์ ยังเผยว่า เท่าที่ตนได้สำรวจใน สน.หลายแห่ง ก็เริ่มมีความพร้อมสำหรับการบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว แต่คนแรกที่บอกว่าไม่พร้อมก็คือ ผบ.ตร. เอง ตนเห็นว่าถ้าไม่พร้อมก็ควรออกไป เพราะมีคนอื่นที่พร้อมกว่า
"สาเหตุที่ประวิงเวลาเพราะ เป็นกฎหมายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในกระบวนยุติธรรมครั้งใหญ่ เชื่อว่าคนที่มีบาดแผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ คงจะกลัวกฎหมายฉบับนี้มาก ถ้าเลื่อนกฎหมายออกไปประชาชนไม่ได้ประโยชน์ คนที่ได้ประโยชน์คือ คนที่มีบาดแผลเกี่ยวกับการบังคับสูญหายและซ้อมทรมาน" รังสิมันต์ กล่าว