ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดว่า ปารีณา ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็น ส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป โดยศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องเเละให้ ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งเเต่เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64
โดยวันนี้ ปารีณา มอบหมายให้ ทิวา การกระสัง ทนายความ เดินทางมาฟังคำพิพากษาแทน ล่าสุด ศาลฎีกา พิพากษาว่า ปารีณา ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายเเรง ให้พ้นตำเเหน่ง ส.ส.ตั้งเเต่วันที่ 25 มี.ค. 2564 เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 10 ปี เเละไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เเละดำรงตำเเหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
ทั้งนี้ศาลเห็นว่าการที่ ปารีณา ครอบครองที่ดิน โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์และขาดคุณสมบัติ จึงก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกีบรติภูมิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเพราะเป็นการกีดกันผู้ยากไร้ไม่เข้าถึงได้รับสิทธิการทำกินในที่ดินของรัฐ
ส่วนเหตุผลที่ ปารีณาชี้แจงว่า ครอบครองเอกสารสิทธิ ภทบ.5 ทำกิจการต่อจากบิดาเพื่อหาเงินเลี้ยงดูบิดานั้น เป็นการทำตามมาตรฐานและศีลธรรมนั้น ศาลเห็นว่า จะต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ที่ต่องอยู่ภายใต้ความเป็นธรรมด้วย ซึ่งการคืนที่ดินภายหลังก็ไม่สามารถเป็นเงื่อนไขที่จะอ้างว่าไม่ฝ่าฝืนจริยธรรมได้
ด้าน ทิวา การกระสังข์ ทนายความระบุหลังฟังคำวินิจฉัย ปารีณา ขอน้อมรับและกลับไปพักผ่อน 10 ปี ส่วนจะกลับมาเล่นการเมืองต่อหรือไม่อยู่ที่ รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไทย ถูกฉีกมาตลอด ไม่เคยอยู่ยาวถึง 10 ปี หากรัฐธรรมนูญถูกแก้ไข ก็พร้อมกลับมาเล่นการเมืองได้อีก