ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 ในคดีหมายเลขดำ ที่ คมจ. 4/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1/2566 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้ร้อง อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้คัดค้าน เรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีการเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อแลกกับการผ่านงบประมาณ
โดยศาลพิพากษาว่า อนุรักษ์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 7,8,9 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง ให้ อนุรักษ์พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.มุกดาหาร นับแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่
รวมทั้งศาลยังให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของอนุรักษ์ตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 81
ผลจากคำพิพากษา ทำให้ อนุรักษ์ ต้องพ้นพ้นจากสมาชิกภาพ และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่งตลอดชีวิต และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง เป็นเวลา 10 ปี เป็นเหตุให้ล่าสุดจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรลดจำนวนลงไปอีก 1 ที่นั่ง แต่ไม่ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่ เพราะอายุของสภาฯ เหลือไม่ถึง 180 วัน
(อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย)
โดยปัจจุบันมี ส.ส.เท่าที่มีอยู่ปฏฺิบัติหน้าที่ได้ 436 คน
คำพิพากษาที่เปิดออกมาในช่วงใกล้เลือกตั้ง เป็นที่น่าจับตาว่า ส.ส.รายอื่นที่ถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างศาลฎีกากำลังไต่สวนคดีความต่างๆ นั้น จะทยอยเปิดคำพิพากษาออกมาอีกเมื่อใด
ล่าสุดยังมี ส.ส. 7 คน ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกา ดังนี้
สมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 23 พ.ย. 2565 สืบเนื่องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องคดี สมหญิง และพวกรวม 12 คน เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ตามที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด สมหญิง กับพวก ในคดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตบอล จ.อำนาจเจริญ
(สมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย)
วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ และ ทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเศรษฐกิจไทย หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 2 พ.ย. 2564 สืบเนื่องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องคดีทุจริตสนามฟุตซอล จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564
(วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ)
(ทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ)
(ทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเศรษฐกิจไทย)
ฉลอง เทอดวีระพงศ์ และ ภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2564 สืบเนื่องจากศาลฎีการับคำร้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมฯอย่างร้ายแรง จากการเสียบบัตรแทนกัน
(ภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย)
(ฉลอง เทอดวีระพงศ์ และ ภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย)
ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 สืบเนื่องจากศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับคำร้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีมีพฤติการณ์ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรแสดงตนและลงมติแทนในการพิจารณาและลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เหรียญราชรุจิ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562
(ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ )
โดยคดีของ ธณิกานต์นั้น ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษา ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 19/2564 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 ในคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง ธณิกานต์ กรณีเสียบบัตรแทนกัน ผลการพิพากษาชี้ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ต้องโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 2 เเสนบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
ต่อมา ธณิกานต์ได้ให้สัมภาษณ์ขอใช้สิทธิต่อสู้ด้วยการอุทธรณต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อขอให้ศาลเมตตาให้ความเป็นธรรมโดยดูเจตนาและพิจารณาครบทุกองค์ประกอบรอบด้าน
“ทุกอย่างเกิดขึ้นย่อมมีเหตุปัจจัย มีหลายเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมและยากจะเข้าใจ บททดสอบสำหรับ ส.ส.สมัยแรกไม่ง่ายเลย ขอบคุณทุกๆกำลังใจและทุกๆคำแนะนำจากพี่ๆเพื่อนๆทุกคนที่ส่งเข้ามา พี่ๆนักกฎหมายหลายคนที่ได้ดูเคสให้ก็ตกใจเพราะไม่ปรากฏหลักฐานใดว่ามีการกระทำเช่นนั้น ก็ให้เคารพคำพิพากษาศาล จะนำมาปรับปรุงและวางแนวทางการทำงานให้ละเอียดรอบคอบขึ้น เชื่อว่าอุปสรรคคดีทางการเมืองที่เจอจะทำให้ตนแข็งแกร่ง อดทน และเปิดมุมมองกว้างขึ้น” ธณิกานต์ กล่าว
สำหรับกรณีของ อนุรักษ์ นั้น ศาลฎีกาออกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อ 15 ธ.ค. 2564 ก่อนล่าสุดจะมีคำพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่งและเพิกถอนสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต นับเป็น ส.ส. รายที่ 2 ซึ่งต้องพ้นจากความเป็น ส.ส. จากการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง
โดย ส.ส.คนแรกที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตลอดชีวิต คือ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โดยศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 ในคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ ปารีณา กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม
ทั้งนี้ ศาลมีคำพิพากษาว่า ปารีณา ผู้คัดค้าน ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ 25 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกา สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และ พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง
โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดว่า ปารีณา ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็น ส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 234 กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีหน้าที่ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมอืง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ หรือตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต
รวมทั้งไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.ป.ว่าดว้ยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต
ตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญยังกำหนดช่องทางที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนโดยมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เห็นว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์หรือกระทำความผิด ให้ดำเนินการดังนี้
1.ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย โดยให้นำความในมาตรา 266 วรรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาโดยอนุโลม
2.กรณีนอกจากข้อ 1 ให้ส่งสำนวนไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผูู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำเนินการอื่นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต
เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แล้วแต่กรณี ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นและจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้
ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไปและไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่ ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจากการกระทําความผิด รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง