จากกรณีที่ร่าง พ.ร.บ. กัญชง กัญชา มีแนวโน้มจะไม่สามารถพิจารณาวาระที่ 2 ได้ทันวันที่ 2 พฤศจิกายน และอาจต้องเลื่อนไปพิจารณาในสัปดาห์ที่ 3 แทนนั้น ล่าสุด 26 ตุลาคม 2565 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มันมีการเตะถ่วงเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทั้งที่เป็นกฎหมาย ที่มีความสำคัญ การออก พ.ร.บ. จะเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับการใช้กัญชง และกัญชาทำให้เกิดความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีปัญหา มีอุปสรรค แต่เดิม ร่าง พ.ร.บ. มีเสนอเข้ามาหลายร่าง และของพรรคภูมิใจไทย เป็นหนึ่งในนั้น สุดท้าย สภา จะเลือกมาว่าจะใช้ของพรรคไหนยื่นเข้าไป การเสนอกฎหมาย จะต้องผ่านวาระรับหลักการ การยื่น กมธ. และวาระพิจารณา ส่วน กฎหมายกัญชง กัญชา เมื่อถูกยื่นเข้าไปในสภา ก็มีการตกลงกันว่า ให้ใช้ ของภูมิใจไทยเป็นต้นเรื่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกินกึ่งหนึ่งไปเยอะเลย มีมติ รับหลักการเรียบร้อย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เมื่อรับหลักการไปแล้ว ได้ตั้ง กมธ. ขึ้นมา ประกอบด้วยพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการประจำ ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยพิจารณา ให้กฎหมายดีขึ้นอีก
อนุทิน กล่าวว่า ตอนแรกมี 45 มาตรา อันนี้มาจากพรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาแล้ว เพิ่มความเห็นได้เลย กมธ.ก็โหวตทีละมาตรา จนมันขยายไปเป็น 90 กว่ามาตรา อะไรที่มันเพิ่มเข้ามา คือ ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ที่เพิ่มมา ก็เป็นข้อเสนอของพรรคอื่นๆ ทั้งนั้น มันเป็น กฎหมายที่สมบูรณ์ พรรคที่บอกว่า กังวลเรื่องเยาวชนเข้าถึง ก็เติมเรื่องนั้นเข้ามา มีกฎกรอบมากมาย มาคุม จนผ่านความเห็นชอบขอบ กมธ. ที่ช่วยกันร่าง
ดังนั้น การที่มาคว่ำกันกลางสภา กลืนน้ำลายตัวเองทั้งนั้น เพราะท่าน มีส่วนผลักดันข้ามา จนถึงขั้นตอนสุดท้าย ร่างที่ออกมา ถึงวาระพิจารณาไม่ใช่ร่างของ ภูมิใจไทย เป็นร่างของ ผู้แทนราษฎร แล้วมันเกิดช่วงใกล้เลือกตั้ง มันทำให้รู้ว่า นโยบายกัญชา โดนใจประชาชน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าที่ ภูมิใจไทย หาเสียงไว้ ทำได้จริง พูดแล้วทำ ทำแล้วสำเร็จ มันถูกใจประชาชน มันก็เจาะยางกัน ถ้าผิดไปจากนี้ เขาต้องไม่รับหลักการ ตั้งแต่วาระแรก แต่นี่รับกันตั้งแต่วาระแรกที่ 378 เสียง มากกว่ารัฐมนตรีที่ถูกลงมติไม่ไว้วางใจอีก ตอนนั้น รมต.ที่เป็นแชมป์ ได้ 270 เสียงโดยประมาณ นี่ได้เสียงไป 380 กว่าเสียง ก็ฝ่ายค้านไงมาเติทเสียงให้ ถ้าประชาชน วิเคราะห์ไปแตะละจุด จะเห็นว่า มันเป็นเกมการเมือง ในชั้น กรรมาธิการ พรรคประชาธิปัตย์ มี อ.กนก วงศ์ตะหง่าน มาเป็น กมธ. ท่านเสนอว่ามันต้องมีเรื่องนันทนาการ เพียงแต่ต้องควบคุม เรื่องเวลา เรื่องพื้นที่ มีการขออนุญาต แต่ใน กมธ. บอกว่าไม่ได้ เพราะมันเพิ่งออกมาจากยาเสพติด ต้องขอให้ประชาชนมั่นใจก่อน อ.กนก เห็นด้วย ในร่าง พรรคก้าวไกล มีเรื่องโซนนิ่งการใช้ น่าจะเป็น เท่าพิภพ ลิ้มจิตกร ที่เป็น กมธ. ด้วย มีการถกแถลงกัน แล้วก็สรุปว่า ยังไม่สมควรดันเรื่องนันทนาการเข้าไป ข้างในเราฟัง และเราแก้ไขหมด ตามที่เสนอกันมา สุดท้าย เมื่อสมบูรณ์ ผ่าน กมธ.จากทุกพรรค ก็นำเรื่องเข้าสภา บรรจุเป็นวาระที่ 2
แต่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย จากพรรคประชาธิปัตย์ กลับมากังวล แล้วก็ไม่ปรึกษา อ.กนก เลย บทนำ ท่านก็ไม่อ่าน แล้วท่านมาบอกว่ากฎหมายหละหลวม ส่วนนายสุทิน คลังแสง จากพรรคเพื่อไทย ท่านมาบอกว่า ที่ตอนนั้น ท่านรับหลักการ เพราะท่านรับใน 45 มาตรา ท่านไม่ได้รับใน 90 มาตรา สรุปว่า ตอนเป็น 45 มาตราของพรรคเรา ท่านก็รับ แต่พอทำให้ดีขึ้น มาจากทุกพรรคช่วยกันคิด ช่วยกันเขียน ท่านไม่รับ กระนั้นหรือ
“มันคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นการพยายามเอาสีข้างเข้าถู คนเหล่านั้น ไม่ได้ทำกฎหมาย เหมือนกับว่า มีธงแล้ว ไม่ให้ผ่าน ก็พูดไปเรื่อย”