ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรประเมินภาวะวิกฤตคาดการณ์ 'ขั้วอำนาจการเมืองไทย' จะถูกเขย่าจากวิกฤตเศรษฐกิจหลัง 'โควิด-19' พร้อมแนะทางออก 'ต้องแก้รัฐธรรมนูญ' เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลายในสังคมไทย

ช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศ International Crisis Group (ICG) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงผลกำไรในเบลเยี่ยม เผยแพร่รายงานสถานการณ์ทางการเมืองไทย ชื่อว่า COVID-19 and a Possible Political Reckoning in Thailand

ใจความสำคัญระบุว่า ระบบสาธารณสุขอันเข้มแข็งของไทย ช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่น่ากังวลว่าจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ 'วิกฤตเศรษฐกิจ' เพราะภาคธุรกิจของไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ผู้ที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจจะต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เพื่อจะได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการที่สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่สังคมไทยปัจจุบันมีการกระจุกตัวทางด้านรายได้และความมั่งคั่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกและความไม่พอใจโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่เป็นอยู่มากขึ้น

รายงาน ICG ระบุว่า ทางออกของไทยที่จะไปให้พ้นวิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองที่จะเรื้อรังในระยะยาวต่อจากนี้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มีกลไกทางการเมืองที่สอดคล้องกับประชากรหลากหลายกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะนโยบายที่จะนำไปสู่การกระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่ง 'ที่เป็นธรรม' มากกว่าที่เป็นอยู่

เนื้อหาบางส่วนระบุอีกว่า ประเทศไทยยังอยู่ในวังวนการแย่งชิงความเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงมาตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดในปี 2549 และ 2557 ทำให้เกิดการออกแบบเครื่องมือทางการเมืองที่เป็นประโยชน์กับผู้ก่อรัฐประหารและสถาบันหลักของไทย และมีการใช้กระบวนการยุติธรรมลดบทบาทผู้ต่อต้านรัฐบาลที่มีอำนาจ ณ ปัจจุบัน 

รายงานย้ำว่า แม้รัฐบาลนี้จะรับมือวิกฤตโรคโควิด-19 ได้ดี แต่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่น่าหวาดหวั่นกำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย และการยื้ออำนาจของขั้วการเมืองปัจจุบันจะยิ่งทำให้ไทยไม่เหลือสถาบันหรือองค์กรใดที่จะเป็นแกนนำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การกระจายรายได้ที่แท้จริง

หากประเมินจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2563 จะเห็นได้ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ไทยยิ่งติดหล่มการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เพราะไม่สามารถดึงดูดการลงทุนต่างชาติหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจได้ ในระยะยาวจะยิ่งทำให้คนไม่มีทางเลือกด้านอาชีพ

รายงาน ICG ยกตัวอย่างโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และโครงการไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลชุดนี้พยายามผลักดัน แต่ไม่มีความคืบหน้ามากนัก ขณะที่กลุ่มทุนในประเทศซึ่งครองส่วนแบ่งทางธุรกิจของไทยก็มีเพียงไม่กี่ตระกูล โดยกลุ่มทุนที่ร่ำรวยเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในสังคมไทย

กลุ่มคนร่ำรวยเป็นจำนวนน้อยในสังคมไทยซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจก็สามารถอยู่รอดได้ในวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าการเติบโตและผลกำไรสำหรับคนกลุ่มนี้ คือ การคงสถานะผู้ควบคุมเศรษฐกิจในแบบเดิมที่เคยเป็นมา

เมื่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมไม่เอื้อต่อการลงทุนและการสร้างรายได้ด้วยหนทางใหม่ ก็จะส่งผลให้ไทยไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะนำไปสนับสนุนการวิจัยพัฒนานวัตกรรม การปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทั้งยังไม่มีรายได้มากพอที่จะผลักดันให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการเพื่อรองรับประชากรสูงวัยและคนรุ่นใหม่ที่จะตกงานเพราะสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: