วารสารการแพทย์ The New England เผยแพร่รายงานของแพทย์ผู้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ติดเชื้อรายนี้ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อหลังเดินทางกลับจากอู่ฮั่นเมื่อเดือนมกราคม โดยในรายงานระบุถึงอาการและวิธีการรักษาของโรคโควิด-19 ไว้ดังนี้
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ชายคนนี้มาหาหมอด้วยอาการไข้เพียง 37.2 องศาเซลเซียส มีอาการไอ โดยหลังจากตรวจรอบแรกไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และไม่พบความผิดปกติของปอด แพทย์จึงให้ผู้ติดเชื้อกลับไปสังเกตอาการตัวเองที่บ้าน เนื่องจากอาจจะเป็นเพียงอาการของไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดในสหรัฐฯ ช่วงนั้น จนกระทั่งผลตรวจจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ชายคนดังกล่าวมีเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ ตลอดการรักษาพบว่าชายคนนี้มีอาการไอแห้ง และเมื่อเข้าวันที่ 2 ของการรักษา (21 ม.ค.) ก็มีอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่ไม่มีการหายใจติดขัดหรือเจ็บหน้าอกแต่อย่างใด แต่พบว่าผู้ป่วยมีเยื่อเมือกแห้ง
ขณะที่ผลจากแล็บในวันที่ 3 และ 5 พบว่าผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวและภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างอ่อน และค่าการทำงานของตับมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ฟิล์ม x-ray ปอดในวันที่ 5 พบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการปอดอักเสบ และพบว่าค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในปอดอยู่ในระดับต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหายใจเอง
ในวันที่ 6 ของการรักษาตัว แพทย์ได้ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ และฟิล์ม x-ray ปรากฏให้เห็นร่องรอยของโรคปอดอักเสบที่ชัดขึ้นทั่วปอด แพทย์จึงเริ่มรักษาด้วยการให้ยาตามอาการต่างๆ รวมไปถึงยาต้านไวรัส จนถึงช่วงเย็นของวันที่ 7 พบว่าผู้ป่วยยังไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ จนกระทั่งวันที่ 8 (29 ม.ค.) อาการของผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้น เริ่มหายใจได้เอง ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในปอดกลับมาอยู่ 94-96 เปอร์เซ็นต์ ร่องรอยของโรคปอดอักเสบในปอดล่างก็ไม่ปรากฏให้เห็น เหลือแต่เพียงอาการไอแห้งและมีน้ำมูกเท่านั้น
จากรายงานข้างต้นเห็นได้ชัดว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมุ่งทำลายปอดเป็นสำคัญ ขณะที่ปอดเป็นอวัยวะสำคัญในการรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ
สื่อจีนรายงานว่า เชื้อไวรัสฯ จะลงไปทำลายเซลล์ของเยื้อหุ้มปอดซึ่งทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ซึ่งโดยปกติแล้วเยื่อหุ้มปอดหรือถุงลมในปอดของร่างกายมนุษย์จะมีลักษณะที่แห้ง และหากถูกทำลายอาจจะมีของเหลวเข้าไปอยู่ภายใน ซึ่งจะส่งผลต่อระบบหายใจของร่างกายในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ของเหลวที่เข้าไปอยู่ในเยื่อหุ้มปอดจะมีผลต่อการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายส่วนอื่นๆ ล้มเหลวตามมา โดยเฉพาะตับและไต ซึ่งหากขาดเลือดจะทำให้ระบบอวัยวะภายในล้มเหลวได้
ดร.วิลเลี่ยม ชวาฟฟ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัย Vanderbilt กล่าวกับนิวยอร์กไทม์ว่า 'มีตัวบ่งชี้ทางชีวเคมีระบุว่า ระบบอวัยวะภายในร่างกายได้รับผลกระทบ เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย ทั้งปอด หัวใจ ตับ ไต และระบบหมุนเวียนเลือดต่างได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสดังกล่าว แต่ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานปรากฏว่า เชื้อไวรัสนั้นได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ นอกจากปอดหรือไม่'
ใครคือกลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับเชื้อโควิด-19 ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้นั้น คือ กลุ่มผู้สุงอายุ และผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพต่างๆ โดยเชื้อโควิด-19 อาจจะเป็นตัวเร่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบอวัยวะต่างๆ หากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่แข็งแรง หรือ ผู้ที่ได้รับเชื้อมีร่างกายอ่อนแอ
รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 82 เปอร์เซ็นต์ มีอาการของโรคไม่รุนแรง ซึ่งสามารถรักษาหายได้ ขณะที่ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นเสียชีวิตเนื่องจากระบบอวัยวะภายในล้มเหลว
ทางด้านศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคของจีนตีพิมพ์งานวิจัยลงในนิตยสารด้านระบาดวิทยาของจีน เกี่ยวกับข้อมูลการศึกษาผู้ติดโรคโควิด-19 จำนวน 44,672 คนทั่วประเทศจีนจนถึงวันที่ 11 ก.พ. พบว่า ร้อยละ 80.9 ของผู้ติดเชื้อมีอาการไม่รุนแรง ร้อยละ 13.8 มีอาการรุนแรง และมีเพียงร้อยละ 4.7 ที่เข้าขั้นวิกฤต
งานวิจัยนี้ระบุว่า แม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ แต่คนแก่ที่อายุเกิน 80 ปีมีความเสี่ยงสูงที่สุดในการติดโควิด-19 และมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 14.8 ส่วนเด็กแรกเกิดจนถึง 9 ปีไม่มีใครเสียชีวิตเลย แม้จะมีเด็กแรกเกิดติดเชื้อถึง 2 ราย
การแพร่ระบาดของเชื้อไม่เหมือนซาร์ส
รายงานขององค์การอนามัยแพนอเมริกัน (PAHO) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2563 ระบุว่า การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นต้นตอโรคโควิด-19 นั้นเกิดขึ้นได้จากการติดต่อหรือสัมผัสกับเชื้อโดยตรงจากการติดเชื้อแบบฝอยละออง (droplet) และ ละอองลอยในอากาศ (airborne)
ขณะที่รายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของจีนและหน่วยงานแพทย์แผนจีนก็ระบุว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถผ่านละอองลอยในอากาศได้ แม้ว่าการแพร่พระจายส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อแบบฝอยละอองผ่านการหายใจและการใกล้ชิดกันเป็นหลัก
เราจะป้องกันเชื้อไวรัสได้อย่างไร
ฟอร์บสรายงาน อ้างถึงนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯกล่าวว่า การใส่หน้ากากอนามัยนั้นไม่อาจจะสามารถป้องกันไวรัสได้ หากหน้ากานั้นไม่ใช่หน้ากากอนามัยแบบ N95 หรือ หน้ากากแบบป้องกันก๊าซพิษ (Respirator)
ดร. อิลี พีเรนเซวิซ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยไอโอวาของสหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้ที่มีสุขภาพดีไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่า หน้ากากอนามัยจะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้ และพวกเขาใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูกวิธี และการใส่หน้ากากอนามัยยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้ เนื่องจากอาจมีการสัมผัสหน้าบ่อยกว่าการไม่ใส่หน้ากาก
ดร.พีเรนเซวิซ ยังระบุด้วยว่า หน้ากากอนามัยนั้นถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันฝอยละอองของน้ำลายหรือสารคัดหลังสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ออกมาทางฝอยละอองต่างๆ
ดังนั้นหน้ากากอนามัยจึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่มีอาการป่วยเพื่อปกป้องสมาชิกในครอบครัวหรือคนรอบข้างไม่ให้ได้รับเชื้อโรค
ทั้งนี้ ดร.พีเรนเซวิซ ยังกล่าวว่า หน้ากากที่จะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้นั้น ต้องเป็นหน้ากากแบบ Respirator หรือหน้ากากแบบป้องกันก๊าซพิษได้ ซึ่งหน้ากากดังกล่าวมักใช้ในการผ่าตัด และต้องเป็นการใช้แบบครั้งเดียวทิ้งเท่านั้น หรือมีการเปลี่ยนไส้กรองที่ได้มาตรฐาน และต้องเป็นผู้ที่ถูกฝึกมาเพื่อให้ใช้งานได้ มิฉะนั้นการใช้หน้ากากแบบนี้ก็อาจส่งผลลบต่อผู้สวมใส่ได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสามารถทำเพื่อป้องกันไวรัสได้นั้น ดร.พีเรนเซวิซ กล่าวว่า การล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่่อยๆ ก็อาจจะเพียงพอ รวมไปถึงการไม่เอามือจับใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณปากและจมูก และหากพบว่ามีอาการไม่สบายก็ไม่ควรออกจากบ้าน ให้กักตัวเองอยู่ในพื้นที่จำกัด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง