ไม่พบผลการค้นหา
'วิโรจน์' ชูเบอร์ 1 ประชาชนเป็นที่ 1 มองผู้ว่าฯควรมีอิสระ และยึดโยงกับประชาชน ยันวินาทีแรกหากได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะไขเซฟเปิดร่างสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

วันที่ 31 มี.ค. 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 เขตดินแดง วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล หมายเลข 1 ระบุหลังเสร็จสิ้นการสมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่า ความหมายเบื้องหลังหมายเลข 1 คือ ที่ผ่านมาประชาชนรู้สึกว่าต้องเอาเงินภาษีไปปรนเปรอให้กับนายทุนผู้รับเหมารายใหญ่ต่างๆ แต่ต้องแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตและโครงการห่วยๆ ประชาชนไม่เคยถูกมองว่าเป็นที่หนึ่ง 

"การบริหารเมืองที่ดีที่สุดคือการบริหารงบประมาณอย่างเป็นธรรม ประมาณควรจะจัดสรร และเอามาทำประโยชน์กับประชาชนโดยคิดว่าประชาชนเป็นอันดับ 1" 

เมื่อถามถึงจุดยืนของนโยบายที่ประกาศว่าจะพร้อมชนทุกปัญหา วิโรจน์ ตอบว่า เราเป็นอะไรกันนักกันหนา ในการต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ ต้องยอมให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบโดยที่เราเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ต้องเว้นวรรคให้คนกลุ่มหนึ่งเพียงเพราะเขาเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ จะบริหารเมืองภายใต้ความกระอักกระอ่วนแบบนี้ได้อย่างไร 

"การพุ่งชนกับปัญหาบนความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชน ผู้ว่าฯ กทม. ควรเป็นกลาง ลอยตัวเหนือความขัดแย้งแบบนี้หรือ ทำเหมือนปัญหาเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง อยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แล้วปัญหาคนกรุงเทพฯ จะแก้ได้อย่างไร แบบนี้เรียกว่าไม่แยแสต่อความเดือดร้อนของประชาชนโดยเอาความเป็นกลางมาเป็นข้ออ้าง" 

วิโรจน์ ย้ำว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นคนที่พร้อม ปกป้องประชาชน ยืนเคียงข้างกับประชาชนเมื่อเผชิญกับความอยุติธรรม นี่คือตัวแทนของคนกรุงเทพฯ และสำหรับ ส.ก. ของพรรคก้าวไกล เชื่อมั่นว่าจะส่งเข้าสภากรุงเทพฯ ไปได้เป็นจำนวนมาก และมุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณเป็นหลัก 

0E9F4C69-ED75-4C64-B6D0-CA9D15D41B2E.jpegวิโรจน์ 9E4C-3ACF75C47AAF.jpeg

เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับการแยกผู้ว่าฯ กทม. ให้เป็นอิสระจากกระทรวงมหาดไทย วิโรจน์ ระบุว่า เจ้านายที่เลือกผู้ว่าฯ กทม. มา คือคนกรุงเทพฯ ล่าสุดตนได้ยิน คำตอบจากใครคนหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งตอบมาว่า 'แล้วแต่ผู้ใหญ่' ตนคิดว่าคนกรุงเทพฯ ไม่อยากได้ยินแบบนั้น เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นของคนกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ย่อมคาดหวังคำตอบว่า 'ต้องแล้วแต่คนกรุงเทพฯ' ไม่ใช่แล้วแต่ผู้ใหญ่ ดังนั้นอิสรภาพในการทำงานที่ยึดโยงกับกรุงเทพฯ ควรเป็นจุดยืนที่สำคัญของผู้ว่าฯ กทม. 

สำหรับประเด็นนี้ วิโรจน์ เผยว่า ตนได้ทำหนังสือขอให้ กทม. เปิดบันทึกการประชุม รวมถึงรายละเอียดร่างสัญญาต่างๆ ของการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด อีกสักพักจะทำหนังสือไปทวงถามอีกครั้ง เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่สามารถทำได้เลย เพราะตนก็อยากรู้ว่าสัญญาลึกลับดำมืดที่เปิดเผยประชาชนไม่ได้นี่คืออะไร 

"วินาทีแรก หากผมมีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเอากุญแจไปเปิดเซฟ แล้วเอาสัญญา และบันทึกการประชุมเหล่านี้มาให้ประชาชนได้ดูสักที ถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหารถไฟฟ้าแพง" วิโรจน์ กล่าว