ภาคี SAVEบางกลอย นำโดย ธัชพงศ์ แกดำ แกนนำและเครือข่ายภาคสังคม นำโดย นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ 'พีมูฟ' ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชาวกระเหรี่ยงบางกลอย
และขอให้ถอด วราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งมาแทน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้
โดยมี อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับหนังสือ ด้านภาคีSAVEบางกลอย ให้เหตุผลว่า วราวุธ มีทัศคติเชิงลบและเป็นปฏิปักษ์ต่อการแก้ปัญหาบางกลอยมาโดยตลอด โดยยก 5 ข้อว่าทำไมจึงต้องพ้นจากตำแหน่งประกอบด้วย
1.) ไม่เคยมาพบหรือรับฟังปัญหาจากชาวบางกลอย ที่ได้เดินทางไปขอเข้าพบนายวราวุธ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ อย่างน้อย 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปี
2.) วราวุธ รับฟังแต่ข้าราชการกระทรวง ที่ให้ข้อมูลที่ผิดพลาด เคยแถลงว่ามีชาวบ้านเพียง 6 % หรือประมาณ 80 คน ที่ยังไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ส่วนชาวบ้านอีก 90 กว่า% พอใจแล้ว ซึ่งถือเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
3.) วราวุธ กล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และในเดือนมีนาคมปีนี้ว่าปัญหาบางกลอยไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน และประเทศไทยไม่มี ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ หรือ ‘indigenous people’ ซึ่งเป็นการลดทอนขบวนการเคลื่อนไหวของชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืน
4.) วราวุธ มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการจับกุมชาวบ้านบางกลอย ละเมิด MOU ระหว่างรัฐบาลกับชาวบางกรวยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ตกลงกันว่าให้ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แต่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นายวราวุธ ได้สั่งการให้มีปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร อันนำมาสู่การจับกุมชาวบางกลอยทั้งหมดในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งถือว่านายวราวุธถือเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านตั้งแต่นั้นมา จึงไม่ควรมาเป็นกรรมการแก้ไขปัญหา
5.) วราวุธ ผลักดันมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ท่ามกลางกระแสคัดค้านเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเดือดร้อนรวมถึงคดีความของกะเหรี่ยงบางกลอย ถือเป็นการไม่รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งภาคีSAVEบางกลอย กังวลว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นอาจเป็นการปิดประตูการแก้ปัญหาทั้งหมด โดยเฉพาะการกลับไปทำกินที่ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาติพันธุ์กระเหรี่ยงบางกลอย
นอกจากนี้ยังได้มอบหนังสือสะท้อนปัญหาและความเดือดร้อนของตัวแทนกระเหรี่ยงบางกลอย ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การถูกดำเนินคดีและวิถีชีวิตรวมถึงชุมชนที่จะสูญสลายไป ให้แก่อนุชา ไว้ด้วย