นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตําแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ (ระยะที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก) ว่า ในปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทํางานด้านเทคนิคขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เจรจาและศึกษารูปแบบการดําเนินโครงการฯ ซึ่งทางญี่ปุ่นได้นําส่งรายงานศึกษาความเหมาะสมมาให้รัฐบาลไทยพิจารณาแล้ว แต่ทว่าการศึกษารายละเอียดยังไม่ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม รฟท.ในฐานะส่วนหนึ่งของคณะกรรมการฯ ยืนยันว่า ตามลำดับขั้นตอนการเจรจาและศึกษารูปแบบการดําเนินโครงการฯ ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล ยึดประโยชน์ขององค์กรและของประเทศ รวมถึงยังดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการพิจารณาความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย
"ผลการศึกษาประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ (ระยะที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก) พบว่ามีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 12 ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ กําหนดไว้ ดังนั้น โครงการฯ จึงมีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์" นายวรวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้พิจารณาอย่างรอบคอบต่อประโยชน์ทั้งทางตรง ได้แก่ มูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ มูลค่าการประหยัดเวลาในการเดินทาง มูลค่าจากการลดค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุ และมูลค่าการกําจัดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้น เช่น การกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ และการจ้างงาน
อย่างไรก็ตาม คณะทํางานด้านเทคนิคฯ ยังไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นการใช้งบประมาณการลงทุนในโครงการนี้แต่อย่างใด เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟมีลักษณะเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งโดยทั่วไปรัฐบาลจะรับภาระเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟไทย-จีน และโครงการระบบ รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ดังนั้น ภาระหนี้จึงไม่ได้ปรากฏในงบการเงินของ รฟท.
แต่ รฟท. พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านเพื่อใช้ประกอบการดําเนินโครงการลงทุน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐมีความคุ้มค่า และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ระยะที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร) จะใช้เงินลงทุน 270,000 ล้านบาท จากระยะทางตลอดสาย (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) 670 กิโลเมตร มูลค่าเงินลงทุนรวม 420,000 ล้านบาท
ขณะที่ผลการศึกษาของหน่วยงานฝั่งญี่ปุ่นประเมินว่า โครงการนี้จะมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 10,000-20,000 คน และถ้าต้องทำให้เกิดความคุ้มค่าต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 30,000 คน และถ้าต้องการให้มีกำไร ต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 40,000-50,000 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :