นายทะคะโอะ มะกิโนะ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นเปิดเผยว่าได้ส่งรายงานประเมินราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 670 กิโลเมตร ให้กับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคมนาคมของไทยแล้ว โดยรายงานดังกล่าวเป็นการประเมินเปรียบเทียบมูลค่าโครงการ กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้จากเส้นทางรถไฟตลอด 12 สถานีที่รถไฟวิ่งผ่าน
รายงานฉบับนี้ประเมินราคารถไฟความเร็วสูงสไตล์ชิงกันเซ็งกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไว้ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 420,000 ล้านบาท โดยกระทรวงคมนาคมของไทยจะประชุมหารือความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการนี้อีกครั้งกับตัวแทนของญี่ปุ่นภายในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้า และหากโครงการได้รับอนุมัติ ก็จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2019 โดยเฟสแรกจะเป็นการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯถึงพิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร มีกำหนดเปิดใช้งานปี 2025
สำนักข่าวนิกเกอิรายงานว่าอุปสรรคสำคัญของโครงการนี้ก็คือรัฐบาลไทยอาจมองว่าราคาดังกล่าวแพงเกินไป จนไม่คุ้มค่ากับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ นอกจากนี้ราคาตั๋วจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ยังอยู่ที่ 1,200 บาท ในการเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง ด้วยความเร็วสูงสุด 300 กิโเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งถูกกว่าตั๋วชิงกันเซ็งในญี่ปุ่นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลไทยต้องการให้ราคารถไฟความเร็วสูงแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำได้ และสอดคล้องกับค่าครองชีพของคนไทย แต่ก็ทำให้การเดินรถไฟเสี่ยงที่จะขาดทุนเช่นกัน
หากรัฐบาลไทยอนุมัติการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้ การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในเวลาเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงในภาคตะวันตกของอินเดีย ที่ญี่ปุ่นรับผิดชอบก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่นี้ ญี่ปุ่นเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการพัฒนาให้เป็นแรงจูงใจ เพื่อแข่งขันกับจีน ที่ได้รับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟส 1 สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่า 170,000 ล้านบาทไปแล้ว โดยมีการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยและจีนไปเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งเส้น จากกรุงเทพฯถึงหนองคาย และเชื่อมต่อไปยังลาว ภายในปี 2021 โดยโครงการดังกล่าวไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด