ไม่พบผลการค้นหา
'อนาคตใหม่' โต้ 'ประยุทธ์' ส.ว. 250 คน ร่วมเลือก 'นายกฯ' คือบทบาทสำคัญช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ

จากกรณีความคืบหน้าการสรรหา ส.ว.โดยเตรียมส่งรายชื่อ 400 คน ให้ คสช.คัดสรรเหลือ 194 คน และเมื่อรวมกับ ส.ว.สัดส่วนตำแหน่งสำคัญอีก 6 คน และที่คัดสรรจากประชาชนเบื้องต้น 50 คน ก็จะได้ครบ 250 คน ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังยืนยันไม่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ตามที่มีกระแสเรียกร้อง รวมบอกด้วยว่า 194 คนที่จะส่งมานั้น ไม่มีข้าราชการ ไม่ทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมๆ เพราะ ส.ว.ต้องทำตามกฎหมาย คงไม่มีบทบาทอะไรมากนัก นั้น

อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่อยากชี้ให้ทุกคนได้เห็นว่า ส.ว. 250 คน ตามบทเฉพาะการของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ร่วมโหวตเลือกนายกได้ คือ เครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างไม่ต้องสงสัย ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่าแต่ละท่านมีสมอง สามารถตัดสินใจได้เอง แต่ถ้าดูจากกระบวนการสรรหาแล้ว ก็ต้องถามว่า ทำไมไม่ทำอย่างโปร่งใส ทำไมไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ทั้งตัวผู้ที่ถูกเทียบเชิญเป็น ส.ว. หรือแม้แต่คณะกรรมการคัดสรร ซึ่งตอนนี้เรารู้แต่เพียงว่ามี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา เท่านั้น 

สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดก็จะไปอยู่ที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเป็นคนเคาะเลือก ส.ว. ว่าใครบ้างจะเข้าไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐด้วย ดังนั้น การที่บอกว่า ส.ว.ชุดนี้ไม่มีบทบาทอะไรมากนัก ไม่ใช่เลย เพราะบทบาทของ ส.ว.ชุดนี้สำคัญมาก นั่นคือมีบทบาทร่วมเลือกนายก มีบทบาทสำคัญคือการช่วย คสช. สืบทอดอำนาจ 

"ถามว่าหลังการเลือกตั้ง การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีความยุติธรรมตรงไหน ในเมื่อฝ่ายหนึ่งมี ส.ว. 250 คน ตุนไว้อยู่ในมืออยู่แล้ว และที่สำคัญซึ่งผมอยากให้ได้ลองคิดดูก็คือ ส.ส.จำนวน 500 คนนั้น คนไทยทั้งประเทศ คือคนไทยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 51 ล้านคน จะเป็นผู้ออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกเข้ามา แต่ทว่า ส.ว.250 คน ซึ่งจะคัดสรรมาอย่างไร สัดส่วนภาคประชาชนแบบไหน กลุ่มอาชีพอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายคนที่จะประทับตรายอมรับคือ คสช. พูดง่ายๆ ว่ามีคนหนึ่งคนเป็นคนเลือก นั่นหมายความว่า คนทั้งประเทศได้เลือกเข้าสภา 500 คน แต่คนๆ เดียวได้เลือกเข้าสภา 250 คน ซึ่งเป็น กลุ่มคนที่จะมีบทบาทอย่างสูงมากๆ" 

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ชัดเจนว่ามีการวางกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารไว้อย่างโจ๋งครึ่มที่สุด โดยไม่อายเลย ยิ่้งกว่าการทำรัฐประหารตลอดทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะถ้าลองย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ฉบับปี 2521 หรือฉบับปี 2534 ก็จะพบว่ายังไม่กล้าวางกลไกสืบทอดอำนาจไว้ชัด ยังไม่กล้าทำถึงขนาดนี้ อย่างมากก็แค่ระบุว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง นี่ย่อมแสดงให้เห็นใช่หรือไม่ว่า คสช. คิดว่าจะควบคุมผลการเลือกตั้งไม่ได้ จึงต้องเอาแต้มต่อไปก่อน ด้วยการมี ส.ว. 250 ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี