ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์โรคไข้เลือดออก จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยกว่า 1,200 ราย เปิดศูนย์ภาวะฉุกเฉินไข้เลือดออก ระดมท้องถิ่นและชุมชน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั่วจังหวัด

นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้เลือดออก ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบไปด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ว่า ในปี 2562 นี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้วกว่า 20,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 25 ราย คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีผู้ป่วยมากถึง 100,000 ราย

ขณะเดียวกันในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในห้วงเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว จำนวน 2,547 ราย และเสียชีวิต 1 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 1,282 ราย จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 481 ราย จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 410 ราย จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 374 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงหน้าฝน โดยจะพบผู้ป่วยในกลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปีมากที่สุด ขณะเดียวกัน จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่พบผู้ป่วยมากที่สุด จึงได้มีการประกาศเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) และใช้แผนตอบโต้ภาวะฉุกฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคไข้เลือดออกระบาด ( PHEOC: DHF Outbreak) พร้อมทั้งให้มีการประสานหน่วยงานท้องถิ่น ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม ทุกพื้นที่

รวมถึงการแจ้งเตือนการระบาดให้ชุมชนรับทราบ และมีข้อสั่งการให้หน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง จัดกิจกรรม อสม.เคาะประตูบ้าน เพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออกให้ประชาชนปฏิบัติตลอดช่วงฤดูฝน

พร้อมกันนี้ยังให้มีการจัดรณรงค์ Big Cleaning Day อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เน้นพื้นที่บ้าน วัด โรงเรียน สุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลายเน้นพื้นที่บ้าน วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง กำชับหน่วยบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้รักษาตามมาตรฐานของแนวทางการดูแลรักษาไข้เลือดออกจังหวัดนครราชสีมา ให้หน่วยบริการสาธารณสุขปฏิบัติตามระบบและเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลในลำดับสูงขึ้นไปภายในจังหวัด และมีระบบและการสนับสนุน & การขนส่ง วัสดุ เวชภัณฑ์, ยาเคมีภัณฑ์ ไปยังสถานพยาบาลในภายในจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดปริมาณการแพ่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้เป็นอย่างดี.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :