วันที่ 4 ต.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทยร่วมกันแถลงการณ์กรณีการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งยังเป็นที่น่ากังวลว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ทันท่วงที
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้มี 56 จังหวัดได้รับผลกระทบ พื้นที่การเกษตรเสียหายร่วม 1.2 ล้านไร่ ถือเป็นความเสียหายใหญ่ ในฐานะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองและเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ได้ให้การช่วยเหลือดูแลประชาชนเท่าที่ทำได้ เนื่องจากการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีข้อจำกัด หลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบมา จึงเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือประชาชน
พรรคเพื่อไทยเห็นความสำคัญ เป็นห่วง และพร้อมทำงานเคียงคู่ประชาชน พร้อมเรียกร้องไปยัง รัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องให้ทำหน้าที่ดูแลประชาชนให้ถึงที่สุด รัฐบาลควรถือว่าความเดือดร้อนของประชาชนครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วน จึงต้องบริหารสถานการณ์แบบภาวะวิกฤติ ต้องระดมกำลังช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ทันท่วงที ต้องมีการมาตรช่วยเหลือเฉพาะหน้า และเยียวยา ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์มาแล้วในปี 2554
ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงได้กำหนดมาตรการดูแลประชาชน อย่างมีแบบแผน คือ การเตือนภัย ครั้งนี้มีปัญหาการเตือนภัย เพราะหลายพื้นที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ข้าวของเสียหายเพราะคาดการณ์ไม่ได้ถึงความรุนแรง การบริหารจัดการทุกอย่างวางแผนในลักษณะสถานการณ์เลวร้ายสุด ต้องนำการบริหารสถานการณ์ในภาวะเสี่ยงสุดมาใช้ วางระบบบริหารจัดการที่มีหน่วยปฏิบัติชัดเจน ต้องไม่นำระเบียบเดียวมาบังคับใช้ทั่วประเทศ ต้องดูแลพื้นที่
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องได้ยินคำพูดว่า "เดี๋ยวก็ชิน” ยืนยันว่าไม่ชิน ขอลองให้มาอยู่แบบนี้สัก 2 วัน ก็จะสัมผัสได้ พร้อมย้ำว่า ค่าเยียวยาพื้นที่รับน้ำต้องชัดเจน ต้องให้อำนาจท้องถิ่นในการดูแลประชาชน นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยเคยเสนอแผนบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท แต่ถูกตีตก จึงเป็นกรรมของประเทศที่ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำ จึงขอร้องไปถึงรัฐบาลให้รีบทำ และหากเพื่อไทยมีโอกาสในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะทำ
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวอีกว่า การช่วยเหลือประชาชนยังมีข้อจำกัดของ กกต. หลังออกระเบียบ 180 วันก่อนเลือกตั้ง จึงขอเรียกร้องให้ กกต.พิจารณาปรับปรุงเรื่องระเบียบในเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเสนอให้แก้พรป.เลือกตั้ง ในเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและการหาเสียง โดยจะเสนอในที่ประชุมสภาในสมัยประชุมหน้าต่อไป
ด้าน ธีรรัตน์ กล่าวว่า ตนได้ตั้งกระทู้ถามสดในสภา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตอบ ซึ่งคำตอบน่าผิดหวัง เพราะอ้างว่าไม่มีคำสั่ง พร้อมกล่าวถึงเหตุน้ำท่วมวานนี้ว่าส.ส. ว่าที่ ส.ส.-สก.เพื่อไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ลงพื้นที่แม้การช่วยเหลือจะทำในแบบทุนทรัพย์ไม่ได้ แต่ก็ไปให้กำลังใจ แม้ไม่มีอำนาจบริหารในมือแต่สามารถช่วยเหลืออื่นๆได้
ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลจัดสรรงบกลางมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงเปิดรับฟังแนวทางการบริหารจัดการของพรรคเพื่อไทย สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม จัดทำผังการใช้ที่ดินและการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทาน เพื่อกักเก็บน้ำหลากชั่วคราว ปรับปรุงลำน้ำสายหลัก จัดทำทางน้ำหลาก ทางผันน้ำให้ได้ไม่น้อนกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และไม่สร้างทางหลวงขวางทางน้ำ
นพ.ชลน่าน ยังให้ความเห็นถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าเพิ่งมาทำหน้าที่ตรวจน้ำท่วมเมื่อวันจันทร์ (3 ต.ค.) แม้จะกลับสู่ตำแหน่งตั้งแต่ 30 ก.ย. แล้วก็ตาม แต่เข้าใจได้ว่าการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ช้าตามปกติวิสัย เป็นอย่างนี้มาตลอด จึงไม่คาดการณ์ว่าท่านจะทำงานได้เร็วกว่านี้
"เรื่องอื่นน่ะเร็วมาก โดยเฉพาะอารมณ์กับพี่น้องประชาชน แต่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกลับช้ามาก ต้องไปไหว้ศาลพระพรหมก่อนถึงจะเริ่มแก้ไขปัญหาได้ ก็ชัดเจนนี่คือวิธีการทำงานบริหารงานของผู้นำประเทศที่เราเรียกว่านายกรัฐมนตรี" นพ.ชลน่าน ระบุ