ไม่พบผลการค้นหา
สื่อญี่ปุ่นเผยบทวิเคราะห์เลือกตั้งไทย 24 มี.ค. ระบุ "เป็นการสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหาร" แต่ชาติตะวันตกหลายแห่งแสดงท่าทีว่า 'ยอมรับได้' เพราะหวังถ่วงดุลจีนที่มีอิทธิพลต่อไทยเพิ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร แต่อาจทำให้ไทยหวนคืนสู่ประชาธิปไตยยากขึ้น

เบนจามิน ซาแวกคี นักวิเคราะห์อิสระและผู้เขียนหนังสือ Thailand: Shifting Ground Between the U.S. and a Rising China เผยแพร่บทความลงในเว็บไซต์นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิว โดยระบุว่า ประเทศตะวันตกต้องปฏิบัติอย่างชัดเจนเพื่อหยุดยั้งการเติบโตของ 'จีนโมเดล' ในประเทศไทย (West must act firmly to stem rise of 'China model' in Thailand) เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา

เนื้อหาในบทความระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ของไทย บ่งชี้ว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลทหารจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยแต่อย่างใด เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร ไม่ใช่การหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากมีการวางเงื่อนไขและกรอบกติกาต่างๆ ที่ปูทางให้รัฐบาลทหารกลับมามีอำนาจอีกครั้ง

ประเทศไทยเคยมีประชาธิปไตยที่เฟื่องฟูที่สุดในยุค ค.ศ.1990 หรือประมาณปี 2533 แต่หลังจากนั้น รัฐธรรมนูญได้เพิ่มอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรี และเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง 2 สมัย ก็เริ่มมีการละเมิดระบอบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น องค์กรอิสระถูกมองข้าม ทั้งยังมีความพยายามแทรกแซงสื่อมวลชนและปิดปากผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงมีการใช้มาตรการรุนแรงทำสงครามต่อต้านยาเสพติด ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ

บทบาทของรัฐบาลอดีตนายกฯ ทักษิณ กลายเป็นต้นแบบให้กับรัฐบาลชุดอื่นๆ ที่ตามมาทีหลัง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่สนับสนุนหรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออดีตนายกฯ ทักษิณ ต่างก็มีความเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกันเมื่อได้อยู่ในอำนาจ นั่นคือเพิกเฉยต่อหลักนิติรัฐ เลือกปฏิบัติด้านการตรวจสอบความโปร่งใส และตอบโต้กับกลุ่มผู้เห็นต่างด้วยการละเมิดสิทธิหรือใช้ความรุนแรง

AFP-พื้นที่ใช้กระสุนจริง-life firing zone-สลายชุมนุมเสื้อเดง พ.ค.2553.jpg

บทความของซาแวกคี ยกตัวอย่างเหตุการณ์สมัยรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งประกาศว่ารัฐบาลของตนสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยและต้องการที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดของอดีตรัฐบาลทักษิณ แต่รัฐบาลชุดนี้เองที่ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและชาวม้งออกนอกประเทศ และตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณด้วยการเปิดพื้นที่ 'ใช้กระสุนจริง'

ส่วนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 5 ปีที่แล้วโดยอ้างเหตุผลว่าจะฟื้นฟูเยียวยาระบอบประชาธิปไตย แต่กลับเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อยกเลิกบทลงโทษในการก่อรัฐประหารของตัวเอง ทั้งยังกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลชุดใหม่จะต้องทำตามแผนที่วางไว้ หากไม่ทำจะถือว่ามีความผิด รวมถึงวางกรอบกติกาให้กองทัพเป็นผู้มีอำนาจคัดเลือกตัวนายกฯ คนต่อไป

ซาแวกคีระบุว่า อดีตรัฐบาลทักษิณดำเนินนโยบายตามแบบอย่างการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนนับตั้งแต่ปี 2546 ทั้งสองประเทศลงนามความร่วมมือในกรอบทวิภาคี และรัฐบาลในยุคนั้นก็ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ตามรอยจีน เน้นการออกคำสั่งจากรัฐบาลส่วนกลางไปยังระดับภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการเดินทางเยือนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ ของทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

AFP-หย่อนบัตรเลือกตั้ง-หีบบัตร-กกต.jpg

แต่หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารไทยก็ยังมุ่งหน้าสานสัมพันธ์และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่นและพยายามบริหารประเทศแบบอำนาจนิยมเช่นเดียวกับจีน หรือ China Model โดยบทความของซาแวกคีได้ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลทหารไทยอนุมัติการสั่งซื้อเรือดำน้ำจากจีนโดยไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็เป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยอมรับการก่อรัฐประหารของไทยทั้ง 2 ครั้งในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา และการสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลทหารไทยโดยไม่สนเรื่องรัฐประหาร ก็ทำให้จีนมีโอกาสวางรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองในไทยเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการสนับสนุนโครงการ Belt and Road (หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเชิญไปเข้าร่วมการประชุมเมื่อไม่นานมานี้ ช่วยใ้ห้เกิดความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อตกลงโครงการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จีนพยายามผลักดัน

ซาแวกคีประเมินจากปากคำของแหล่งข่าวรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า สหรัฐฯ แสดงท่าทีว่าจะรับรองผลการเลือกตั้งไทยในวันที่ 24 มี.ค. และซาแวกคีมองว่าสหรัฐฯ พยายามให้ความชอบธรรมต่อการเลือกตั้งและรัฐบาลทหารไทย เพื่อหวังจะถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลจีนที่มีต่อไทยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง

ขณะเดียวกันเขาก็มองว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะไม่ว่าจะอย่างไร กลุ่มประเทศตะวันตกก็ไม่มีทางตามทันจีน แต่การรับรองความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐบาลทหาร จะยิ่งทำให้คนไทยห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งไม่เคยผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมาก่อนเลย