"Every generation must be as free to act for itself, in all cases, as the ages and generation which preceded it.....Every generation is, and must be, competent to all the purposes which its occasions require." - Thomas Paine ในหนังสือ Rights of Man (1792)
การเปิดตัวคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ในนาม ‘New Dem’ โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือ 'ไอติม' หลานชายของอดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นแกนนำ โดยกล่าวนิยามองค์กรคนรุ่นใหม่ของพรรคไว้ว่า องค์กรนี้ไม่ต้องการนิยามว่ากรอบเดิม ผิดหรือถูก แต่อยากชวนให้ทุกคนตั้งคำถามกับแนวคิดค่า���ิยมเดิมๆ เป็นสะพานเชื่อมคนรุ่นใหม่ทั้งในพรรคและข้างนอกพรรค ไม่ใช่แค่ยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรค แต่จะเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่มาทำการเมืองสร้างสรรค์ ทันยุคสมัย ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในอดีต ไม่ใช่ลูกหลานนักการเมืองตระกูลใหญ่ ซึ่งจุดแข็งของคนรุ่นใหม่ในพรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศนี้คือ การรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นก่อนที่มีประสบการณ์และพร้อมทำงานร่วมกับคนทุกรุ่น
บนเวทีมีการนำเสนอแนวความคิดที่จะพัฒนาเป็นนโยบายพรรคในอนาคต โดยคนรุ่นใหม่จำนวน 20 คน กับ 21 แนวความคิด อาทิ การยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบบังคับเปลี่ยนเป็นสมัครใจ 100 เปอร์เซ็นต์, เปิดการค้ากัญชาเสรีเพื่อการแพทย์โดยรัฐบาลสนับสนุน, E-Sport, ลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการคิดราคาถุงพลาสติก และโครงการคืนขวด, E-Government ใช้เทคโนโลยีจองคิวการให้บริการของรัฐ, Universal Design สำหรับคนพิการ, ส่งเสริมการตรวจสุขภาพจิตในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ลดจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า, แอปพลิเคชั่นเรียกรถถูกกฎหมาย, ให้คนอายุ 18-24 ปี ลงสมัครรับเลือกตั้งได้, ดึงคนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดมาเพิ่มคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น, ความเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชาย ยุติความรุนแรงในสังคม, ส่งเสริมคราฟต์เบียร์ หรือสุราพื้นบ้าน, ส่งเสริมความรู้เรื่องกฎหมายโดยการเพิ่มหลักสูตรกฎหมายในชั้นมัธยมศึกษา และจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือกฎหมายให้กับประชาชน, ควบคุมให้ผู้เลี้ยงดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างมีมาตรฐาน, สภาเยาวชนท้องถิ่น, เทคโนโลยีพัฒนาเกษตรยุคใหม่, เพิ่มสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย, สนับสนุนให้เด็กมัธยมได้เรียนในสิ่งที่ชอบ, สนับสนุนอาชีพฟรีแลนซ์, E-learning, และการสมรสของบุคคลไม่ว่าเพศไหนก็แต่งงานกันได้ รวมทั้งการแก้ไขคำนำหน้านาม
แม้หลายประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาจะไม่ใช่ประเด็นใหม่ในวงสนทนาของกลุ่มคนทำงานในด้านนั้นๆ หรือโลกออนไลน์ เช่น การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน, หรือเปิดการค้ากัญชาเสรี และหลายประเด็นเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ยอมแพ้ต่อระบบโครงสร้างสาธารณะ เช่น แอปพลิเคชันเรียกรถถูกกฎหมาย แทนที่จะแก้ปัญหาขนส่งมวลชนให้ทั่วถึง แต่ประเด็นเหล่านี้ แทบจะไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาพูดในพื้นที่การเมือง หรือในฐานะที่เป็นนโยบาย หรือแม้บางประเด็นจะมีคนเคยพูดถึงแล้ว เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ ไก่ วัฒนา เมืองสุข เคยพูดไว้ที่พรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม
ดังนั้นจะใช้คำว่า ‘ใหม่’ ในมุมการเมืองก็คงไม่ติดขัดอะไร ถึงจะไม่ใหม่แกะกล่องแบบนโยบายไฮเปอร์ลูปแทนรถไฟความเร็วสูงเหมือนพรรคอนาคตใหม่ แต่ถ้าคิดในมุมของพรรคที่เก่าแก่ 72 ปี แนวคิดเหล่านี้มีความใหม่ในบริบทประชาธิปัตย์ และมีความเป็นไปได้มากกว่านโยบายของอนาคตใหม่
บรรยากาศของความเก่าในงานแถลงเปิดตัวคนรุ่นใหม่ยังเกิดขึ้นจากรูปแบบการจัดงานและรับมือกับสื่อมวลชน ที่แม้บนเวทีจะบอกว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่ใช้เครื่องแสกนบัตรประชาชนในการรับสมัครสมาชิก แต่ในงานยังแจกเอกสารข่าวเป็นกระดาษ ไม่ใช้การสแกน QR Code หรือวิธีอื่นที่รวดเร็วและประหยัดทรัพยากร นอกจากนั้นการจัดผังที่นั่งที่คล้ายกับงานอีเวนต์ในละครดาราวีดิโอเมื่อ 10 ปีก่อนยังดึงบรรยากาศให้เก่าลงไปอีก เช่น การใช้สายกั้นนักข่าวให้ยืนด้านหลังคนดู แต่ไม่มีที่ให้นักข่าวใช้ไอแพดหรือแลปท็อปพิมพ์ข่าว เพราะสมัยนี้แทบไม่มีใครยืนจดกันแล้ว หรือแม้แต่การถ่ายคลิป หรือเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่ต้องนั่งตรงกลาง สถานที่ก็ไม่เอื้ออำนวยให้ทำได้ เพราะรูปแบบการจัดสถานที่มันเหมาะกับนักข่าวยุคที่จดด้วยมือเท่านั้นจริงๆ
ในช่วงสัมภาษณ์ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการก้าวข้ามปัญหาเดิมๆ ของพรรค คือ ‘นโยบายจับต้องไม่ได้ ไม่เข้าถึงรากหญ้า’ ซึ่งไอติม แกนนำกลุ่ม ‘New Dem’ มองว่านโยบายของกลุ่มเองมี 20 นโยบาย และยังไม่รวมนโยบายกลางจากพรรคอีก โดยเฉพาะถ้านโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารทำได้จริงก็จะตอบโจทย์คนทุกกลุ่มจริงๆ “อยากให้ตัดสินจากนโยบายที่จะนำเสนอดีกว่าว่าตอบโจทย์คนๆไหนบ้างในสังคม อย่าเอาอดีตมาตัดสิน”
จากคำกล่าวของไอติมทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อว่า เมื่อไม่เอาความผิดพลาดในอดีตมาคิดหาทางแก้ไข เพราะเข้าใจว่ามันคือภาพลักษณ์ที่คนตัดสิน เป็นความเข้าใจเดียวกันกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กล่าวในวันดีเบตหัวหน้าพรรคว่า ที่ผ่านมานโยบายของพรรคเป็นการตอบโจทย์ปัญหาของประชาชน แต่ถูกขัดขวางให้ลงพื้นที่ไม่ได้ และถูกบิดเบือนข้อมูล คำกล่าวเหล่านี้ตอกย้ำจุดยืนของไอติมต่อมุมมองปัญหาพรรคที่คล้ายกับอภิสิทธิ์ได้เป็นอย่างดี
เมื่อคนรุ่นใหม่และคนรุ่นก่อนมองไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา แต่เห็นเพียงว่ามันคือการตีตราภาพลักษณ์ของพรรคจากศัตรูทางการเมืองเท่านั้น ย่อมจะไม่นำมาสู่การแก้ปัญหาเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของพรรคได้อยู่ดี
"หลายปีมาแล้ว ผมก็เคยเป็นแบบนี้ เพราะว่าเข้ามาสู่การเมืองก็อายุประมาณนี้ แล้วก็มีความใฝ่ฝันมีความตั้งใจ ผ่านไปหลายปีก็มีโอกาสทำหลายสิ่ง แล้วก็ยังทำไม่สำเร็จอีกหลายสิ่งเช่นเดียวกัน” คำกล่าวของนายอภิสิทธิ์หลังจบการแถลงข่าว ยิ่งทำให้ความใหม่ดูเก่าลงอีกทันตาจนเหมือนว่าการเปิดตัวคนรุ่นใหม่ครั้งนี้คือการผลิตซ้ำ ‘อภิสิทธิ์’ ที่ไม่เคยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นคนแล้วคนเล่า
อย่างไรก็ตาม ประชาธิปัตย์ ยังรักษาจุดแข็งของพรรคไว้ได้อย่างดี นั่นคือ ประสบการณ์ที่ยาวนาน โดยการจับคู่บัดดี้คนรุ่นใหม่กับอดีต ส.ส. เพื่อให้ประสบการณ์กับไฟของคนรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดและมุมมอง ทำให้แนวคิดของคนรุ่นใหม่เป็นจริงได้ด้วยประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน
“No man ever steps in the same river twice, for it's not the same river and he's not the same man.” แต่เมื่อนึกถึงคำกล่าวของ Heraclitus นักปรัชญากรีก ทำให้มองเรื่องความ ‘ใหม่’ หรือ ‘เก่า’ อาจจะไม่ใช่อรรถสาระของการเมืองไทย เมื่อตราบใดเวลาที่ผ่านไปจะนำสิ่งใหม่มาเสมอ เหมือนกับเราที่ไม่มีทางเหยีบแม่น้ำสายเดิมได้สองครั้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ น้ำ หรือขวด เหมาะสมแก่การดื่มกินในช่วงที่สังคมไทยกระหายพัฒนาเศรษฐกิจและประชาธิปไตย หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบเผด็จการทหารมากว่า 4 ปี
เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ‘เสรีนิยมประชาธิปไตย’ ที่ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นก่อนพูดกันอยู่บ่อยครั้งมันจะยังจำเป็นในช่วงเวลาของคนรุ่นใหม่นี้จริงๆ หรือ? มันจะสอดคล้องกับความต้องการและพันธกิจของคนรุ่นนี้จริงๆ หรือ? แล้วกรอบใหญ่จะกลายเป็นม่านบังตาให้คนรุ่นนี้มองไม่เห็นปัญหาสำคัญที่มีมาอย่างยาวนานและถึงเวลาแก่การแก้ไขเพื่อให้ตอบโจทย์ยุคสมัยจริงๆ หรือเปล่า?
เหล้า หรือ น้ำ ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ มันอยู่ในภาชนะที่มีรูปร่างถูกต้องตามความต้องการดื่มของคนแล้วหรือยัง เพราะหากอุดมการณ์มันยิ่งใหญ่จนละเลยความต้องการของยุคสมัย ขันน้ำอาจจะทำให้ความอยากดื่มลดลง ภาชนะเก่าอาจทำลายความสดใหม่ของเครื่องดื่มก็เป็นไป ขณะที่ขวดแก้วสีสวยหลายรูปทรงถูกผลิตมาวางขายมากมาย ด้านในก็บรรจุทั้งน้ำเก่า เหล้าใหม่ ให้เลือกดื่มกันได้หลากหลาย เช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่จะมาถึงเหมือนพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์กำลังยุ่งกับการตระเตรียมน้ำทั้งเก่าและใหม่ แต่ในตลาดที่มีเครื่องดื่มหลากหลายทั้งใหม่ และเก่า ประชาชนผู้กระหายน้ำอย่างเรานอกจากจะมองหาเครื่องดื่มแล้ว ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ก็มีส่วนตัดสินใจเช่นกัน