ไม่พบผลการค้นหา
‘ไผ่ พงศธร’ เผยเหตุผลทำไมไม่ขึ้นค่าตัว มาเป็น 10 ปี แล้ว ทั้งที่เป็นศิลปินที่มีกระแสตอบรับดีต่อเนื่อง นับตั้งแต่แจ้งเกิดกับเพลง ฝนรินในเมืองหลวง, ยืมหน้ามาเข้าฝัน, คนบ้านเดียวกัน ขึ้นแท่นเป็นศิลปินขวัญใจมหาชนมาจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่ ไผ่ พงศธร ที่มีชื่อจริงว่า ประยูร ศรีจันทร์ แจ้งเกิดกับเพลง ฝนรินในเมืองหลวง, ยืมหน้ามาเข้าฝัน และเพลงคนบ้านเดียวกัน ช่วงปี พ.ศ.2548 ขึ้นแท่นเป็นนักร้องขวัญใจมหาชน แม้มีเรตติ้งดีไม่มีตก มีงานเดินสายคอนเสิร์ตต่อเนื่อง เป็นศิลปินทำรายได้ให้ แกรมมี่ โกลด์ ต้นสังกัด มากที่สุดในรอบปี แต่เจ้าตัวไม่เคยมีความคิดปรับค่าตัวให้สูงขึ้นจากเมื่อ 10 ปีก่อน 

ทั้งนี้ มีข้อมูลระบุว่า ค่าจ้างนักร้องหนุ่มเสียงดี แบ่งเป็นเรทราคาดังนี้ แบบ ‘เต็มวง’ มีไผ่ไปแสดงคอนเสิร์ต มีนักดนตรีเล่นสด แดนเซอร์ อยู่ที่ราคา 150,000 บาท แบบ ‘Backing Track’ มีไผ่ไปแสดงคอนเสิร์ต เปิดเสียงดนตรีจากเครื่องเล่น แดนเซอร์ อยู่ที่ 115,000 บาท ทั้งสองแบบเป็นราคาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่างจังหวัดบวกเพิ่มตามระยะทางใกล้ไกล จำแนกออกเป็นค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเช่ารถ โดยไผ่ได้รับส่วนแบ่ง 60,000 บาท ที่เหลือหักเข้าต้นสังกัด 20% และ 2.5% ให้นักแต่งเพลง นักเรียบเรียงดนตรี โปรดิวเซอร์ รวมถึงค่าตัวนักดนตรี แดนเซอร์ 

นักร้องคนดังที่สู้ชีวิตมาตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านงานรับจ้างแบกเครื่องเสียง หางเครื่อง หนุ่มโรงงาน รำวง หมอลำขอข้าว และเป็นลูกมือร้านลาบของพี่สาว เผยว่า เหตุผลที่เขาไม่มีแผนปรับค่าตัวขึ้น เพราะมีความเห็นใจคนจ้างงาน ที่เปรียบเสมือนญาติพี่น้องกันไปแล้ว ในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองหากปรับค่าตัวสูงขึ้น จนผู้จัดงานไม่มีกำลังจ้างตัวศิลปินเองก็จะอยู่อย่างลำบากเช่นเดียวกัน 

เป็นศิลปินหลงกับความสำเร็จอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีน้ำใจพร้อมช่วยเหลือผู้อื่นด้วย เผื่อเอาไว้ในวันที่ตก จะได้มีคนรักและเมตตา โดยส่วนตัวเชื่อว่าการให้ใจแลกใจ ทำเกิดมิตรภาพที่ยืนยาว มากกว่ามุ่งเน้นไปที่เรื่องของธุรกิจเพียงอย่างเดียว 

“ถ้าปรับค่าตัวขึ้นก็ไม่ต้องทำงานเยอะ หนึ่งเดือนทำ 10 งาน รายได้เท่ากับทำ 30 งาน แต่ผมไม่มีความคิดที่จะปรับขึ้น เพราะออกาไนซ์ หรือลูกค้า จ้างงานกันทุกปี กลายเป็นพี่น้องเพื่อพ้องกันไปหมดแล้ว ผมพอใจเท่านี้แหละ วันนี้มีชื่อเสียงแต่ก็ต้องคิดเผื่อวันที่เราตกด้วย เราไม่รู้หรอกว่าจะมีชื่อเสียงแบบนี้ไปนานแค่ไหน เอาแบบนี้สบายใจดี มีความพอดี คนจ้างตัดสินใจง่ายไม่ยาก ลูกค้าอยู่ได้เราก็อยู่ได้ แต่ถ้าเป็นงานพรีเซ็นเตอร์โฆษณา ก็เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ต้นสังกัดเคาะกับลูกค้าว่าทั้งสองฝ่ายมีความพึงพอใจตรงไหน” 

ไผ่ เชื่อว่าที่กล่าวมาข้างต้น บวกกับการให้ความสำคัญกับแฟนคลับ คือ ปัจจัยหลักทำให้เขามีงานติดต่อกันเกือบทุกวัน เดินได้อย่างสง่างามบนเส้นทางศิลปิน

“ช่วงเทศกาลก็มี สองงานต่อวัน แต่ช่วงธรรมดามีวันละงาน รู้สึกพอใจแบบนี้ เวลาเล่นเต็มวงอยู่ที่หนึ่งชั่วโมงครึ่ง เล่น Backing Track อยู่ที่หนึ่งชั่วโมง เล่นคนเดียวลากยาวยอมรับว่าเหนื่อยนะ ถ้ารับงานต่อวันในวันเดียวก็ต้องรีบร้อนเดินทางไปต่อ แฟนเพลงที่มารอกระทบไหล่ไม่ได้ถ่ายรูปด้วย เขาน่าจะเสียความรู้สึก อุตส่าห์มารอหนึ่งวันมีหนึ่งงานผมว่ากำลังดี ได้เล่นเต็มที่ไม่ต้องรีบเดินทางด้วย สมมติว่ารับสองงานต่อกันงานแรกเสียงโอเค งานต่อไปเสียงแห้ง เจ้าภาพก็คงไม่โอเค” 

ศิลปินค่ายแกรมมี่ โกลด์ ยอมรับว่า อายุมากขึ้นทำให้ต้องวางแผนตารางการทำงานใหม่ ให้สมดุลกับการดูแลตนเอง และครอบครัว ช่วงที่ว่างจากการเดินสาย เลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่กับครอบครัว เข้าวัดปฏิบัติธรรม ทำบุญ ทำทาน 

“ผ่านการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทำงานเจ็ดวันรวดเคยมาหมดแล้ว เวลาล้มป่วยไม่อยากได้อะไรเลย อยากได้ความมีชีวิตชีวากลับมา นอนดูเพดานถามตัวเองว่าได้อะไร ได้ความสะดวกสบาย แม่และครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่มันก็ได้เยอะเกินไปแล้วไหม ปรับตารางงานให้เข้ากับชีวิตในชีวิตวันนี้ เพื่อให้มีเวบลาพักผ่อนมากขึ้น มีเวลาดูแลตนเองมากขึ้น เวลาไม่มีงานเข้าวัดทำบุญทำทาน ทำให้จิตใจสงบ มีสมาธิ มีสติ ทำบุญทำทาน กลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดยโสธรกับแม่ ใช้ชีวิตเรียบง่ายปลูกผักสวนครัว ทำไร่นาสวนผสม ทอดแหหาปลา เข้าป่าหาเห็ด หาหน่อไม้ ตามวิถีชีวิตของคนในชนบท ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นความสุขที่จับต้องได้ง่าย และยั่งยืน”