ไม่พบผลการค้นหา
ซูมความสุข ไผ่ พงศธร กลับไปเก็บตัวที่บ้านเกิด ใช้ชีวิตเรียบง่ายในไร่นาส่วนผสม หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19  ถูกยกเลิกคอนเสิร์ต-อีเว้นท์ระนาว และพักถ่ายละครชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

พูดถึง ‘นายประยูร ศรีจันทร์’ หลายคนอาจคิดนานน่อยว่าเขาคือใคร แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนเดียวกันกับ ‘ไผ่ พงศธร’ คอเพลงลูกทุ่งร้องอ๋อ รู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะซูเปอร์สตาร์ลูกทุ่ง เจ้าของเสียงร้องเพลงดังอมตะมากมาย อาทิ คนบ้านเดียวกัน, ฝนรินในเมืองหลวง, ยืมหน้ามาเข้าฝัน, อยากมีเธอเป็นแฟน ฯลฯ นั่งอยู่ในใจแฟนๆ มากว่า 1 ทศวรรษ ตอนนี้กำลังไปได้สวยกับการรับบท ‘ดินแดน’ ในละครเรื่องมงกุฏดอกหญ้าเชือดเฉือนอารมณ์กับ ‘แพงขวัญ’ ที่รับบทโดย 'ต่าย อรทัย’ นักร้องคู่จิ้นร่วมค่ายแกรมมี่ โกลด์ ทำให้แฟนคลับสายลูกทุ่งฟินทั่วบ้านทั่วเมือง ผ่อนคลายจากความตึงเครียด ระหว่างเก็บตัวอยู่บ้าน ช่วงโควิด-19 ระบาด ภายหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ถูกยกเลิกงานคอนเสิร์ตเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มากกว่า 50 คิว งานอีเว้นท์ และงานละครพักกองชั่วคราว เจ้าของฉายา ‘ไอ้หนุ่มตามฝันจากบ้านไกล’ กลับไปเก็บตัวที่บ้านนอก อ.กุดชุม จ.ยโสธร


ความสุขสไตล์ ไผ่ พงศธร

“ถ้ามองในแง่ดีก็ทำให้ศิลปิน นักร้องได้มีเวลาพักผ่อนชาร์ตแบทที่บ้านกันอย่างเต็มที่” เขาบอกในสถานการณ์แบบนี้การคิดบวกทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความตึงเครียด ตอนนี้สถานการณ์ หนักจริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปล่อยให้ใจจมอยู่กับความทุกข์ และความกังวล นอกจากดูแลสภาพร่างกายแล้ว สิ่งสำคัญคือ การดูแลสภาพจิตใจ ร่างกายต้องเข้มแข็ง รักษาใจไม่ให้อ่อนแอด้วย

ส่วนตัวหลังจากมั่นใจแล้วว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ตัดสินใจกลับมาตั้งลำที่บ้านเพราะคิดว่า “ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเรา” ใช้เวลาทบทวนสิ่งที่ทำในห้วงเวลาที่ผ่านมา ใช้ชีวิตเรียบง่ายตามสไตล์ลูกอีสานในไร่นาส่วนผสม เก็บพืชผักสวนครัว  ไข่ไก่ ทอดแหหาปลา มาปรุงอาหาร รับประทานกันในครอบครัวอิ่มหมีพีมัน แบบไม่ต้องออกไปจ่ายตลาด

“ความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน แต่ความสุขของ ไผ่ พงศธร เป็นแบบนี้ สุขกับความพอเพียง ซึ่งส่วนตัวคิดมาตลอดว่าเป็นความสุขที่ยั่งยืน” เขาบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

เหนือสิ่งอื่นใดคือได้ 'มีความสุขแบบตัวตนที่แท้จริง' ไม่ยึดติดกับความดังจนน็อตหลุด เพราะชื่อเสียง เงินทอง คำสรรเสริญ และการเอาอกเอาใจจากคนรอบข้างถาโถมเข้ามาพร้อมกันจนทำให้ลืมตัว เพราะไม่ได้เป็นนักร้อง-ดาราทั้งชีวิต ยังมีความเป็นลูกชาวไร่ชาวนาอยู่ในสายเลือด ถือว่าเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรองรับอนาคต วันหนึ่งเมื่อไม่ได้เป็นนักร้อง-ดาราแล้ว ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป

ไผ่ พงศธร

สร้างสวรรค์บ้านนา-ใช้กีฬาพัฒนาบ้านเกิด

ไผ่ เล่าว่า เขาไม่เคยลืม ‘วิถีลูกอีสาน’ ลูกชาวนา เป็นเวลานานแล้วที่เขานำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการทำงานในวงการมาใช้เป็นทุนเนรมิตที่นากว่า 80 ไร่ให้กลายเป็นสวรรค์บ้านนา เพื่อรองรับอนาคต ตามความเชื่อที่ว่า ‘ชีวิตคนเราไม่แน่นอน’ อาชีพศิลปิน นักร้อง ดารา หาเงินได้ง่ายก็จริง แต่ก็ห้ามประมาท ห้ามเหลิง ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะหาเงินหาทองได้คล่องถึงวันไหน พรุ่งนี้จะสวยงามหรือไม่ ในแต่ละวันสถานการณ์ที่พบเจอกับสิ่งที่คาดหวังไม่ได้ลงรอยกันเสมอไป ยกตัวอย่างสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด ที่บ้านเราและทั่วโลกกับเผชิญอยู่ในขณะนี้ ส่วนตัวอยากร้องเพลงไปจนกว่าจะไม่สามารถร้องได้ แต่เมื่อถึงเวลาหรือก้าวเข้าสู่วัยสมควรก็ต้องยอมถอย

ในฐานะลูกชาวนาคิดว่าสักวันหนึ่งต้องกลับบ้านไปทำเกษตร ทำไร่ทำนา ไม่ต้องดิ้นรนมากขอแค่พออยู่พอกินไม่หวังปลูกเพื่อขายให้ได้เงินมากๆ บนเนื้อที่ 80 ไร่ นอกจากปลูกบ้าน ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูป่า ปลูกพืชผักสวนครัว ยังวางแผนที่จะปลูกไม้ยืนต้น อาทิ ยางนา, พะยูง, ประดู่ ฯลฯ ไว้ใช้ประโยชน์อีก 20-30 ปี ข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ใช้ชื่อเสียง และประสบการณ์ที่สะสมมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับการมีส่วนช่วยพัฒนาบ้านเกิดตนเอง และสร้างสังคมชนบทให้น่าอยู่ ด้วยการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสร้างสนามฟุตบอล ให้เยาวชนในหมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียงมีสถานที่เล่นกีฬาออกกำลังกาย ห่างไกลจากยาเสพติด

“ที่ตรงนี้มันมีเห็ดเกิดขึ้นประจำ พอเรามีต้นไม้ใหญ่อย่างต้นยางนาเห็ดก็จะเกิดตามโค่นต้นแบบนี้เราก็ได้เห็ดกินไม่ต้องไปซื้อแล้ว พอถึงหน้าฝนเห็ดระโงก เห็ดปลวก เห็ดต่างๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด ยี่สิบปี สามสิบปี ข้างหน้าแม้เราจะไม่ได้อยู่แล้ว คนที่อยู่เขาก็สามารถใช้ประโยชน์จากไม้ใหญ่ได้ อย่าน้อยๆ ก็นำไปสร้างบ้านอยู่อาศัยได้ หรือมีร่มเงาเป็นที่พักผ่อน ในที่ก็ตั้งใจทำสนามฟุตบอลเป็นกีฬาที่ชอบ เป็นสนามฟุตบอลเล็กๆ เอาไว้ชวนเยาวชนมาฝึกหัดเล่นฟุตบอล มาฝึกกันแล้วพาไปแข่งขันใกล้ๆ เรามีแรงพอพาเด็กๆ ทำได้ ในสังคมชนบทเด็กบางคนอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน บางคนอยู่ในกลุ่มพี่น้องเสพยา อยากพาเขาห่างจากยาเสพติด เติมความรักความอบอุ่นให้เขา ก็ถือว่ามีส่วนช่วยทำให้สังคมชนบทน่าอยู่ ช่วยพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของความคิดที่สามารถปลูกฝังเด็กๆ บางทีเราอาจเป็นไอดอลของเด็กน้อย แบบเป็นตัวอย่างให้เขารู้สึกว่า พี่เขาก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อนพี่เขายังทำได้ เรียกว่าเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เด็กๆ มีจิตสำนึกที่ดีขึ้น พอความคิดเขาดี เขาก็จะเลือกทางเดินที่ดีต่อไปได้”


ใช้ใจนำทางคิดแล้วต้องทำ

หลายคนคงตั้งคำถาม ถ้าหากไม่มีเงิน จะมีทุนไปสร้างบ้านนาให้กลายเป็นสวรรค์ได้อย่างไร ไผ่ บอกว่า เขาเคยได้ยินคนพูดลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ ส่วนตัวอยากบอกว่า “ใช้ใจนำทางและลงมือทำ” ที่ผ่านมาเขาเริ่มทำจากน้อยไปหามาก ทำเท่าที่ทำได้ ทำในแบบที่ตนเองพอใจอยากให้อาณาบริเวณมีอะไรก็ทะยอยนำเข้ามาตามกำลังทรัพย์ พืชพันธุ์บางอย่างไม่ได้ซื้อ ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง  แถมในยุคเทคโนโลยีทันสมัย มีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้าอย่างง่ายดาย

“อยากฝากข้อคิดแบบนี้ครับ อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร เขาทำได้เราทำไม่ได้ต้องใช้เงิน ไม่จริงหรอกครับ เริ่มทำเท่าที่เราทำได้ ทำตามที่ใจต้องการ ใจนำทางแล้วคิดได้แล้วทำเลย อย่าคิดแล้วไม่ทำ ถ้าคิดแล้วไม่ทำก็ไม่สามารถทำได้ ไม่ใช่คิดแต่ว่าการไปทำงานโรงงานได้เงิน เคยคิดไหมว่าได้เงินตรงนั้นแล้วมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ก่อนเป็นนักร้องผมคิดนะว่าทำงานหนึ่งเดือนได้เงินห้าพัน  สองเดือนหนึ่งหมื่น สามเดือนหนึ่งหมื่นห้าพัน แต่ไม่คิดถึงรายจ่าย พอใช้ชีวิตจริงๆ มันไม่ได้ เงินหนึ่งร้อยบาทกินข้าวแล้วไม่พอค่ารถ ถ้าสามารถกลับมาทำที่บ้านได้เราจะทำยังไงอย่าเพิ่งกังวลไปก่อน ทุกวันนี้มีกูเกิ้ล ยูทูบ ค้นหาเข้าไปคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ทำยังไงบ้างให้เกิดรายได้ แทบไม่ต้องไปเรียนรู้จากการไปดูงานแล้วครับ”

“ยกตัวอย่างสมมติว่าทำนา 10 ไร่ มีข้าวกินทั้งปีแล้ว ปลูกเห็ดฟางเพิ่มก็ได้ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลาก็ได้นะครับ เท่านี้เราดูแลชีวิตตัวเองเราได้แล้ว ทีนี้อยากหารายได้เพิ่มอย่างไรก็ค่อยๆ คิดนำมาใส่ในที่ของเรา ค่อยเก็บค่อยกำ ผมเชื่ อว่าไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเท่าที่บ้าน หรือในที่ดินของเราเอง อย่างน้อยห้องไม่ต้องเช่าข้าวไม่ต้องซื้อ มีน้ำปลามีเกลือมีแหหว่านลงไปได้ปลามากินแล้วครับ อยู่ที่ว่าเราจะเอาอะไรมาใส่ เริ่มต้นจากไหนครับ เริ่มต้นจากตัวเรา ใจพร้อมลุยเลย เงินเล็กน้อยสามารถทำให้เราดูแลครอบครัวไปตลอดชีวิตได้ ไม่มีอะไรไม่มีการลงทุนก็จริง แต่เริ่มจากทุนน้อยได้ครับ”

ไผ่ พงศธร

นิยามความพอเพียง คือ พอใจ

ในความคิดส่วนตัวเขามองว่า ‘พอเพียง คือ พอใจ’ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าพอแค่ไหน เช่นเดียวกับคำว่ารวยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่ารวยต้องมีเงินเท่าไหร่ บางคนมีเงินเป็น 100 ล้าน 1,000 ล้าน อาจมีความคิดว่ายังจนอยู่ก็ได้ ในขณะที่บางคนมีแค่พอกินพอใช้ มีเงินสำรองไว้ดูแลตนเองได้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเอาตัวรอดจากสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานได้โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ต้องนำความทุกข์ของตนเองไปส่งต่อให้ผู้อื่น เพียงเท่านี้ก็ถือว่ารวยแล้ว

 เขาแสดงความคิดต่อ ความสุขที่แท้จริงมันขึ้นอยู่กับว่า มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็น มีความสุขกับสิ่งที่เราทำมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่ทำสามารถตอบโจทย์ตนเองหรือไม่ ญาติพี่น้องมีความสุขด้วยหรือไม่ ไปทำสิ่งผิดกฏหมายแล้วบอกว่ามีความสุข แต่ญาติพี่น้องเป็นทุกข์แบบนี้ก็ไม่ใช่

“ผมรักในอาชีพการร้องเพลง เมื่อประสบความสำเร็จกับการร้องเพลงได้เข้าวงการก็ไม่เคยลืมความเป็นลูกชาวนาที่อยู่ในสายเลือด จึงมาทำไร่นาสวนผสมทำเกษตรพอเพียงที่บ้านควบคู่ไปด้วย ผมบอกไม่ได้หรอกว่าจะร้องเพลงได้ไปถึงวันไหน สุขภาพก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร คนเราเกิดรู้ได้แต่ตายไม่รู้จริงๆ หลายคนที่เคยรู้จักกัน ตื่นมาตอนเช้าได้ข่าวว่าไปแล้ว ต่อให้รวยแค่ไหนแต่คำว่าของเราไม่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นผมจึงเชื่อว่าทำให้มันมีความสุขที่สุดในแต่ละวันเท่าที่ตัวเองสามารถทำได้ คนมีเงินมากเขาใช้เงินมากได้ไม่เดือดร้อน ใช้จ่ายไปแล้วยังมีเหลืออีกมาก ไม่มีความรู้สึกว่าใช้ไปแล้วเป็นทุกข์ นั่นก็เป็นความพอเพียงของเขา แต่ถ้าเรามีเงินน้อยแล้วไปใช้เงินมากอันนี้ก็เกินตัว ไม่จำเป็นต้องไปคาดหวังว่าอีกสิบปี ยี่สิบปี จะเกิดอะไร วันที่เรายังมีลมหายใจตื่นขึ้นมาเราได้อะไรจากสิ่งที่เราทำบ้าง คนรอบข้างเราได้อะไรบ้าง ถามว่ามันดีที่สุดหรือไม่ สำหรับเราดีที่สุดแล้วก็โอเค คนอื่นอาจมองว่ายังไม่ดีนั่นก็เป็นเรื่องของเขา ความสุขมันอยู่ที่คำว่าพอในใจเรามากกว่า”

ชีวิตควรมีแผน 2 แผน 3 รองรับ

เขาบอกต่อว่า จากสถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้ต้องตระหนักว่า ชีวิตควรมีแผน 1 แผน 2 รองรับ เมื่อมีอะไรเข้ามาคุกคามการดำรงชีวิตจะได้ไม่ถึงทางตัน อย่างที่คำพระท่านว่า ‘ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน’ ต่อให้ผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานี่แล้ว ยังต้องฟื้นฟูกันอีกหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะมีมหันตภัยอะไรเกิดขึ้นมาอีก ต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะตามมา เหมือนเช่นการปลูกบ้านถ้ารากฐานมั่นคงแข็งแรง ต่อให้เจอพายุ เจอแดด เจอฝน โถมใส่ก็ยังอยู่ได้ ต่อให้หลังคาพังรากฐานก็ยังมั่นคงแข็งแรง สามารถต่อเติมขึ้นไปใหม่ได้ เหมือนกับชีวิตคนเราเมื่อเจอกับผลกระทบหรือแรงกระแทกจากอุบัติภัยต่างๆ ถ้ามีแผนรองรับ มีทางหนีทีไล่ก็ยังรอด

“อย่างที่บอกผมคิดเสมอว่าเมื่อวันหนึ่งไม่สามารถทำงานในวงการได้แล้วก็จะกลับบ้าน ดังนั้นผมจึงทำเกษตรพอเพียงไว้รองรับมาโดยตลอด ในสถานการณ์วิด-19 มันก็ตอบโจทย์ ตอนนี้กระทบกับอาชีพร้อยเปอร์เซ็นต์ไปแสดงคอนเสิร์ตไม่ได้รายได้ก็หาย ถามว่าเดือดร้อนไหม เดือดร้อน แต่ผมเองก็ไม่ต้องดิ้นรนมาก กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านนอกที่ของเรา ที่เราสร้างไว้ อยู่กับมันให้ได้ รอเวลาว่ามันจะผ่านไปอย่างไร คนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้มีแค่เรา ทุกอาชีพในโลกใบนี้ได้รับผลกระทบ ในบ้านเราเรียกว่าคูณสอง ทั้งสถานการณ์โควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจ กำลังใจสำคัญที่สุด พื้นฐานสำคัญของเราอยู่ที่หัวใจ หัวใจอยู่ที่ไหน อยู่บ่านเกิดเราครับ อย่าคิดอะไรมากสู้มันให้ได้ เดี๋ยวมันจะผ่านไป ถ้ามั่นใจว่าไม่อยู่ในยกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ รู้สึกว่าสู้ไม่ไหวกับสภาพเศรษฐกิจในสังคมเมือง มันเหนื่อยมันล้ามันท้อ พ่อกับแม่รออยู่ คนที่บ้านไม่ได้รอเงินรอทองหรอกครับ รอเพราะอยากรู้ว่าลูกมีความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ลูกไหวหรือเปล่า”


15 ปีในวงการสง่างามเพราะ ความจริงใจ-พูดความจริง

ราวกับเวลาเคลื่อนตัวรวดเร็ว หลังจากแจ้งเกิดในปี พ.ศ.2548 ปัจจุบัน พ.ศ.2563 ไผ่ พงศธร อยู่ในวงการมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว นอกจากจัดว่าเป็นนักร้องลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทย ในยุคเทปคลาสเซ็ท และซีดีสามารถทำยอดขายได้ทะลุ 1 ล้านตลับได้แก่ อัลบั้มชุดที่ 1 ฝนรินในเมืองหลวง, อัลบั้มชุดที่ 3 อยากบอกว่าอ้ายเหงา ในยุคดิจิทัล เพลงหมอนขาดสาดผืนเก่า ในอัลบั้มชุดที่ 10 รักแท้บ่ได้แปลว่าโง่ ยังได้ยอดวิวยูทูบทะลุ 50,000,000 ล้านวิว ภายใน 4 เดือน และเพลงถิ่มอ้ายไว้ตรงนี้ล่ะ ในอัลบั้มชุดที่ 11 ถิ่มอ้ายไว้ตรงนี้ล่ะ ยังได้ยอดวิวในยูทูบ 100 ล้านวิว เขายังได้รับการยกย่องว่า เป็นนักร้องที่มีผลงานออกมาจำนวนมากอีกด้วย

เขาบอกว่า วิธีการรักษามาตรฐานให้เดินได้อย่างสง่างามบนเส้นทางสายศิลปิน ของแต่ละคนมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับเขาเชื่อว่า ‘ความจริงใจ’ และ ‘พูดความจริง’ ไม่คิดร้าย ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อ่อนน้อมถ่อมตน มีส่วนสำคัญทำให้ได้รับความรักความจริงใจจากคนในวงการ และแฟนเพลงตอบกลับมา

“สำหรับผมรู้สึกว่าทำอะไรด้วยความจริงทำออกไปได้เลยอย่างสบายใจ พูดออกไปอย่างที่เราคิดได้เลย แต่ต้องไม่ทำร้ายคนอื่นหรือทำให้ใครเดือดร้อนจากการพูดของเรา แฟนเพลงเวลาไปเจอเขาเห็นรอยยิ้มเขาเราก็ยิ้มตอบ ร้องเพลงก็อธิบายในเรื่องราวของความรู้สึกให้ฟัง รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน นอบน้อมเข้าไปหาคนอื่น การที่เราให้สิ่งที่ดีกับผู่อื่นสิ่งที่เราได้กลับมาก็มีแต่สิ่งดีๆ ไม่มีใครชอบร้ายชอบด่าชอบประชดประชัน สำคัญผมว่าใจเท่านั้น เราจริงใจ ทำด้วยความจริงใจ ไปไหนด้วยความจริงใจคนเขาสัมผัสได้ก็มอบความจริงใจตอบแทนกลับมา คนจะรักไม่รักก็เป็นทิฐิของเขา ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาต้องรักเราร้อยเปอร์เซ็นต์ มีคนรักก็มีคนชัง มีคนชังก็มีคนรักเป็นของธรรมดา เราทำให้ดีที่สุด การทำอะไรก็ตามไปหวังกับสิ่งที่ต้องการจะรับกลับมาไม่ได้หรอก ผมไม่รู้ว่าการที่เขาใช้คำว่ารักษามาตรฐานคำว่านักร้องเนี่ยทำยังไง ความหมายของผมคือทำด้วยความจริงใจ และพูดความจริงดีกับชีวิตเราที่สุด”

ไผ่ พงศธร
ชีวิตเริ่มต้นใหม่ทุกวัน

นักร้องคนดังทิ้งท้ายว่า  บนเส้นทางศิลปินมีแม้มีรางวัลเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จเป็นรูปธรรมจากหลายสถาบัน แต่ก็ไม่เคยยึดติดกับชื่อเสียง คิดว่า ‘ชีวิตคือการเริ่มต้นใหม่ทุกวัน’ ที่ผ่านมาในแต่ละวันทั้งตอนที่ยังไม่ได้เป็นนักร้อง และหลังจากเป็นนักร้องเป็นที่รู้จักวงกว้าง มีทั้งสุข และทุกข์ไม่แตกต่างกัน  มีปัญหาให้ต้องแก้ไขเหมือนกับทุกคน  

ขึ้นชื่อว่าเป็นนักร้องขวัญใจมหาชนเดินพรมแดงเข้างานรับรางวัลไม่ได้หมายความว่าชีวิตทุกวันโรยด้วยกลีบกุหลาบ

“อาชีพนักร้องเป็นอาชีพที่บอกไม่ถูกว่าใครจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็น เพียงแต่วันหนึ่งได้รับโอกาสจากผู้เล็งเห็นว่าคนนี้พอจะเป็นนักร้องได้ก็รักษาโอกาสเอาไว้ให้ดี ตั้งแต่วันวานจนมาถึงวันนี้ คิดว่า ชีวิตเริ่มต้นใหม่ทุกวัน แต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน ก่อนเป็นนักร้องต้องดำเนินชีวิตยังไง เป็นนักร้องแล้วต้องทำตัวอย่างไร ในความรู้สึกมันเป็นการต่อสู้ มันเป็นชีวิต เป็นอาชีพทำให้เรามีทุกวันนี้ ชีวิตตอนนี้มีความสุขกับอาชีพของเรา ร้องเพลงไปด้วยมีความสุขกับการทำบ้านไร่นาสวนผสมแบบนี้ เป็นอะไรที่แฮปปี้มากแล้ว”