วันที่ 20 พ.ค. 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (อิสระ) เบอร์ 3 พร้อมด้วยทีมงาน ลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงโค้งสุดท้าย 'สัญจรเราไม่ได้นอนมา' โดยจัดเวทีปราศรัยย่อยสัญจรผ่าน 4 จุดของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ลานสยามสแควร์วัน เขตปทุมวัน ลานหน้าสีลมคอมเพล็กซ์ เขตบางรัก ลานหน้า MRT วัดมังกร เขตสัมพันธวงศ์ ไปจนถึงลานวงเวียนบางลำพู เขตพระนคร
โดย ชัชชาติ เริ่มการปราศรัยบนลังไม้ โดยระบุถึงการทำงานเพื่อชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ทีมงานแต่ละคนไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการเมือง แต่ได้ทุ่มเทลงพื้นที่ทั้ง 50 เขต เรียนรู้ไปด้วยกัน พร้อมความปรารถนาที่จะรับใช้ประชาชนทุกคน ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับใคร
ชัชชาติ ยังได้เน้นย้ำถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของกรุงเทพฯ ซึ่งเปรียบเหมือนเพชรที่รอคอยการเจียระไน ตนนำเสนอนโยบายมากถึง 200 กว่านโยบาย เพื่อตอบสนองต่อประชาชนที่มีหลากหลายกลุ่มในกรุงเทพฯ และมุ่งผลักดันตลอดมา ด้วยความเชื่อว่า กรุงเทพฯ ยังดีกว่านี้ได้
"เรามีแผน 200 กว่าแผน ทำไมเยอะจัง เพราะพวกเราแตกต่างกัน เราแตกต่างกันทั้งวัย ทั้งอาชีพ ทั้งพื้นที่ การจะทำกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นได้ เราต้องมีแผนปฏิบัติการที่พร้อม"
ชัชชาติ เชื่อว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นกำลังของเมือง เพราะคือคนที่จะต้องมาใช้ชีวิตและเสียภาษีต่อไปในอนาคต ตนจึงอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นแนวร่วมเพื่อพัฒนาเมืองไปด้วยกัน เพราะเมืองไม่ใช่ของผู้ว่าฯ คนเดียว แต่เมืองเป็นของทุกคน แม้แต่ผู้สูงอายุ ก็เป็นกลุ่มคนที่มีค่า มีความทรงจำและประสบการณ์ ซึ่งทุกส่วนล้วนจำเป็นต่อการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น
"ผมพร้อมที่จะเป็นผู้นำแห่งความหวังสำหรับพวกเราทุกคน กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความหวัง เรามีสิ่งสวยงาม มีพลังของคนรุ่นใหม่ เราต้องฟังเขา เอาเขามาเป็นส่วนร่วม ผมพร้อมที่จะพาพวกเราเดินไปด้วยกัน แล้วเราจะสร้างเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับพวกเราทุกคน ผมสัญญาจะไม่ทำให้เราผิดหวัง" ชัชชาติ กล่าว
จากนั้น ชัชชาติ ได้เดินทางไปยังเวทีต่อไปด้วยระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้า MRT โดยในแต่ละจุดมีประชาชนมารอคอยรับฟังการปราศรัย และเมื่อปราศรัยจบก็ได้ต่อแถวเพื่อร่วมถ่ายรูปและให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก
'วอยซ์' สัมภาษณ์ประชาชนที่มาร่วมฟังการปราศรัยจากหลากหลาย เพศ วัย และสายอาชีพ โดยส่วนใหญ่ยืนยันว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. นี้แน่นอน โดยมีผู้สมัครที่อยู่ในใจอยู่แล้ว สำหรับเหตุผลที่เลือกสนับสนุนชัชชาตินั้น หลายคนกล่าวว่าเพราะมีความมั่นใจในแนวนโยบาย และเชื่อว่าเมื่อลงสมัครเลือกตั้งในนามอิสระจะเป็นข้อได้เปรียบ เพราะมีความคล่องตัวในการตัดสินใจ ไม่ถูกครอบงำ
เมื่อถามว่า หาก ชัชชาติ ลงสมัครอย่างสังกัดพรรคการเมือง จะยังสนับสนุนหรือไม่ ประชาชนหลายส่วนตอบว่า ยังคงสนับสนุน แต่ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองนั้นมีทิศทางที่สอดคล้องกับการทำงานของ ชัชชาติ หรือไม่ หากไม่สอดคล้ องกัน ก็คงตัดสินใจไม่สนับสนุน
นอกจากนี้ 'วอยซ์' ยังได้สัมภาษณ์ ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ ซึ่งกล่าวว่า ชัชชาติ สามารถแก้ปัญหาหลายอย่างของกรุงเทพฯ ไปพร้อมกันได้ ด้วยความที่เป็นคนใจร้อนและลงมือทำเร็ว ส่วนผลการเลือกตั้งจะมีโอกาสพลิกคะแนนความนิยมจากโพลต่างๆ ได้หรือไม่นั้น มองว่าจากความนิยมของ ชัชชาติ ที่นำมาในหลายโพล อันดับที่คงไม่ต่างกันนัก แต่ตัวแปรสำคัญคือกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ และถูกโน้มน้าวด้วยการโจมตีและวาทกรรมต่างๆ
"ผมว่าอย่าไปเลือกคนหนึ่ง เพราะไม่อยากให้อีกคนหนึ่งได้นะ ควรเลือกคนที่ทำงานได้จริงๆ นี่ไม่ใช่เกม ไม่ใช่การเมือง ที่เล่นกันเพื่อจะเอาความสะใจหรือความถูกต้องส่วนตัว นี่คือการเลือกคนที่จะมาบริหารกรุงเทพฯ อย่าไปเลือกคนเพราะการเมือง ไม่เช่นนั้นกรุงเทพฯ ก็จะย่อยยับอยู่ต่อไป" ดวงฤทธิ์ กล่าว
ด้าน พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเปิดตัวร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาของ ชัชชาติ นั้น ระบุว่า วันนี้ได้มาร่วมเป็นกำลังใจให้ ชัชชาติ ซึ่งเท่าที่เห็นวันนี้พลังก็ยังไม่หมด และเชื่อว่าอีก 4 ปี ก็คงยังไม่หมดแน่ จึงน่าจะสบายใจได้ สำหรับคนที่ต้องการลงคะแนนเสียงให้ อีกทั้งยังมองว่า แม้จะเป็นผู้ว่าฯ อิสระแต่ก็คงไม่มีปัญหากับการทำงานร่วมกับ ส.ก.จากหลากหลายพรรค โดยอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าประสานกับทุกฝ่าย
"ในฐานะประชาชนชาวกรุงเทพฯ อย่างผม ผมนิยมเลือกผู้ว่าฯ ในขั้วประชาธิปไตยแน่นอน ไม่ใช่เพราะ ชัชชาติ ถูกจัดอยู่ในขั้วประชาธิปไตยผมถึงช่วย แต่เพราะผมเห็นว่าเขามีความตั้งอกตั้งใจในการทำงานเหลือเกิน นี่เป็นสาเหตุหลักที่ผมเข้ามาช่วย ชัชชาติ แต่ว่าก็หนีไม่พ้น คอการเมืองก็พยายามจัดขั้ว จัดกลุ่ม อยู่เรื่อย" พิจิตต กล่าว