ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนเยาวชน หวังสร้างพื้นที่ปลอดภัย เข้ายื่นข้อเสนอ “เพื่อไทย” ช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด ‘จุลพันธ์’ เผยจุดยืนพรรค มุ่งมั่นแก้ปัญหานี้จริงจังตั้งแต่ไทยรักไทย เตรียมนำข้อมูลเสนอ “คณะทำงานเปลี่ยนผ่าน” ให้ “รัฐบาลประชาธิปไตย” เดินหน้าทันที

วันที่ 26 มิถุนายน 2566 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น ศักดิ์ชาย ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย พลนชชา จักรเพ็ชร กรรมการบริหารพรรค และต้น ณ ระนอง คณะทำงานด้านนโยบายกีฬา พรรคเพื่อไทย ให้การต้อนรับเครือข่ายเยาวชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยและป้องกันปัญหายาเสพติด ที่เข้ายื่น 9 ข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อพัฒนานโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้รับข้อเรียกร้องดังกล่าวและจะนำข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายฯ เข้าที่ประชุมคณะทำงานเปลี่ยนผ่านพรรคร่วม 8 พรรค พร้อมย้ำพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทยก็จะยังเดินหน้าปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป

1170184.jpg

จุลพันธ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยใส่ใจแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ปี2544 โดยทำสงครามปราบปรามยาเสพติดจนได้รับชัยชนะในระดับหนึ่ง ทำต่อเนื่องถึงสมัยพรรคเพื่อไทย แต่ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลภายหลังรัฐประหารปล่อยปละละเลยปล่อยให้มียาเสพติดแทบทุกบ้าน ชาวบ้านรู้ว่ามียาเสพติดที่ไหน แต่รัฐบาลไม่รู้ ตำรวจไม่รู้ หนักกว่านั้นเมื่อมีนโยบายเสรีกัญชาเกิดขึ้นโดยและประกาศใช้โดยไม่ได้มีมาตรการปกป้องเด็กและเยาวชนที่เหมาะสม ช่วงพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน 4 ปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนปัญหายาเสพติดผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเสนอญัตติแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่องดังนั้น พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนปราบปรามยาเสพติดชัดเจน ส่วนกรณีกัญชาควรถูกนำกลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด และควรใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้เพื่อสันทนาการ

“พรรคเพื่อไทยกำลังร่วมกับพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เสนอจัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านด้านยาเสพติดโดยเฉพาะ โดยจะนำข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายฯ เข้าไปเสนอให้คณะทำงานเปลี่ยนผ่านได้นำไปพิจารณาต่อไป” จุลพันธ์ กล่าว

ลิณธิภรณ์ กล่าวว่าประมวลกฎยาเสพติด พ.ศ.2564 ได้ประกาศใช้และมีเรื่องการยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดแล้ว แต่ยังต้องมีการแก้ไขกฎหมายลูกและอนุสัญญาอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในรัฐบาลหน้าเริ่มทำงานก็จะเร่งแก้ไขทันที นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว สิ่งที่ห่วงใยคือเรื่องการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยยาเสพติดส่วนมากจะเป็นโรคซึมเศร้า แต่เรายังไม่มีกระบวนการบำบัดอย่างจริงจังและได้ผลเพียงพอ และเมื่อกระบวนการบำบัดล้มเหลว ผู้ป่วยยาเสพติดก็จะกลับคืนสู่วงจรยาเสพติด คือกลับมาเสพยา ใช้ความรุนแรงจนก่ออาชญากรรมอีกครั้ง

1170177.jpg

ธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้คนในชุมชนได้แจ้งไปยังภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ได้ข้อมูลและเอาไปบอกผู้ค้า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต้องทำงานประสานกันในการแก้ไขปัญหาระหว่างชุมชน สังคม ประเทศชาติรวมถึงต้องร่วมกับรัฐบาลหน้าในการแก้ไขปัญหายาเสพติดถึงในระดับระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเราซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด ซึ่งพรรคเพื่อไทยเมื่อได้เป็นรัฐบาลจะทำหน้าที่ประสานแก้ไขปัญหาในทุกระดับเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จและสำเร็จ

สรัสนันท์ กล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้หน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัวมีปัญหา หากลูกเห็นว่าพ่อแม่และครอบครัวไม่ใช่พื้นที่อบอุ่นที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจก็จะหันไปหาเพื่อน และยาเสพติดในการแก้ไขปัญหาแทนพ่อแม่ และในต่างจังหวัดปัญหาที่พบบ่อยคือ พอลูกหลานหาเงินไม่ได้ก็จะไปเอาเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของพ่อแม่ ปู่ย่าไปซื้อยาเสพติดจนทำให้ชุมชนอ่อนแอ ครอบครัวแตกแยก จึงขอสนับสนุนให้แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วนจริงจังทันที

ต้น กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลนโยบายด้านกีฬา ขอสนับสนุนให้รัฐและเอกชนได้ส่งเสริมให้เยาวชนได้เล่นกีฬา เพราะการเล่นกีฬานอกจากจะเบี่ยงเบนความสนใจของเยาวชนออกห่างยาเสพติดแล้ว ยังสามารถเสริมสร้างสมรรถนะและโอกาสให้เป็นนักกีฬาในระดับเขต ระดับทีมชาติ จนเป็นอาชีพสร้างรายได้อีกด้วย

1170184.jpg

สำหรับ 9 ข้อเสนอของเครือข่ายเยาวชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยและป้องกันปัญหายาเสพติด ประกอบด้วย

1.นำเงินจากการยึดทรัพย์ยาเสพติด ที่อยู่ในกองทุนป้องกันปบาบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด มาสนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดให้เยาวชน

2.พัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมีส่วนร่วม โดยสร้างพื้นที่กลางให้ประชาชน เด็กเยาวชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมร่วม 

3.ปฏิรูปการศึกษา และปรับปรุงหลักสูตรทั้งในระบบห้องเรียนและนอกระบบห้องเรียนเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เรียนรู้เท่าทันโลก

4.สนับสนุนกระบวนการเฝ้าระวัง ดูแลและส่งต่อกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สารเสพติดอย่างเป็นระบบ และพัฒนาบุคลากรและการศึกษาด้านจิตวิทยาบำบัดหรือให้คำปรึกษาประจำโรงเรียน

5.พัฒนานโยบายให้ความสำคัญกับกระบวนการป้องกันและดูแลเด็กเยาวชนผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อลดปัญหายาเสพติด

6.รับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาสนับสนุนการเคลื่อนงานด้านการป้องกันปัญหาในพื้นทีที่เอื้อต่อบริบทสังคมแบบพหุวัฒนธรรม

7.สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ควรเป็นหน่วยงานรับฟังความเห็นและเสียงสะท้อนของประชาชน พร้อมเป็นศูนย์กลางการรวบรวมองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

8.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ยึดโยงกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของทุกคนในสังคมไทย

9.พิจารณานำกัญชากลับไปเป็นพืชยาเสพติดที่ต้องควบคุมตามกฎหมายและมีมาตรการในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด