วันที่ 23 พ.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น และ พรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมแถลงกรณีสภาล่มระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
จุลพันธ์ กล่าวว่า การประชุมสภาฯ หลังวันหยุดช่วงเอเปค แต่เปิดมาวันแรกก็เกิดเหตุการณ์สภาล่ม เป็นสัญญาณบ่งชี้ทางด้านการเมือง สะท้อนถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่สามารถรักษาองค์ประชุมได้ ตนได้ยินว่า วันนี้มีการเช็กชื่อ ส.ส. บางส่วนที่บ้านมูลธิป่ารอยต่อ ในวันที่มีการประชุมสภาฯ แต่ฝ่ายค้านก็ไม่ได้ติดใจในประเด็นนี้ ถือเป็นการบริหารภายในแต่ละพรรค
อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรรมาธิการฯ ได้แก้ไข เพราะมีการเปลี่ยนไปจากหลักการเดิม โดยเฉพาะการที่ให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนจนครบ ก็จะทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ถูกถอนคนนั้นถูก หลุดออกจากตำแหน่ง โดยไม่มีกระบวนการลงมติ หรือการตรวจสอบใดๆ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความกังวล กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยจึงเสนอมาตรา 9/1 เพื่อเพิ่มให้มีกระบวนการลงมติก่อนถอดถอน
โดยประธานสภาฯ ที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมมีการถามคำถามชัดเจน เชื่อว่าทุกคนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความเข้าใจ แต่เมื่อมีการลงมติรอบแรกผลคะแนนให้มีการเพิ่มมาตรา 9/1 ซึ่งถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฝ่ายค้านชนะการโหวตในสภาฯ แต่กลับมีการท้วงติงจากสมาชิกบางคน โดยอ้างอิงว่าเข้าใจในคำถามผิด แล้วประธานฯ เปิดให้โหวตว่าจะลงมติใหม่หรือไม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งสุดท้ายเสียงข้างมากใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง กว่าองค์ประชุมจะเพียงพอในการลงมติ ว่าให้กลับไปลงมติใหม่ได้หรือไม่ แต่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยเพราะเป็นว่ากระบวนการที่ไม่ชอบ จึงไม่ขอร่วมเป็นองค์ประชุมในการโหวตรอบใหม่
"เป็นการลิดรอนสิทธิของพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย ที่นานทีจะชนะหมด แต่มีการลงมติมาปล้นชัยชนะคืน จึงยอมไม่ได้ จากนั้นมีการตรวจสอบองค์ประชุมในเวลา 14.00 น. เพื่อที่จะลงมติใหม่ในมาตรา 9/1 แต่สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ การประชุมต้องล่มและปิดไป"
จุลพันธ์ ชี้ว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าแม้จะมีข่าวทางพรรคร่วมรัฐบาลจะชื่นมื่นหรือมีความปรองดอง ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะลาก ครม. ไปจนถึงครบเทอม แต่เมื่อประเมินสภาวะในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ เชื่อว่าสภาจะเดินต่อลำบาก จึงเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าหมดเวลาฮันนีมูน ขอให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
ด้าน ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.... กล่าวถึงการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีข้อถกเถียงให้มีการลงมติใหม่ในมาตรา 9/1 จนทำให้เกิดสภาล่มในท้ายที่สุด
โดย ชินวรณ์ ระบุว่า เป็นความเข้าใจผิดของสมาชิก การให้ลงคะแนนใหม่จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ หากมีข้อผิดพลาด โดยใช้ข้อบังคับที่ 9 ซึ่งเป็นอำนาจของประธานสภาฯ ดังนั้นการวินิจฉัยให้ลงมติใหม่จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
แม้ไม่เคยมีมาก่อนและเป็นครั้งแรกของสภาชุดนี้ แต่ยืนยันดำเนินตามข้อบังคับ ไม่ไช่เสียงข้างมากลากไป และเป็นไปตามหลักนิติธรรม พร้อมขอให้สมาชิกร่วมกันเป็นองค์ประชุมโดยเฉพาะเสียงข้างมาก มีความจำเป็น เนื่องจากเรื่องท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจ
ชินวรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านขอให้รัฐบาลยุบสภา ว่ายังไม่ใช่ปัจจัยเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของสภา อีกทั้งยังไม่ใช่เรื่องการเงินที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเรียกร้องไปยังฝ่ายค้านว่า อย่าปากกล้าขาสั่น พร้อมท้าขอให้ฝ่ายค้านหาข้อมูลเพื่อทำอภิปรายทั่วไป เพื่อดีเบตก่อนยุบสภาจะดีกว่า
ด้าน อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขาฯ วิปรัฐบาล กล่าวว่าจากการประสานงานกับสมาชิกส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกับ ชินวรณ์ แต่เกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสาร