ไม่พบผลการค้นหา
'ส.ว.' ผวาที่ประชุมรัฐสภาล่ม ทำเสื่อมเสียภาพลักษณ์ ฝ่าย ส.ว.มาไม่เคยขาด 'ธีรัจชัย' แย้งอย่าเอาชั่วใส่คนอื่น ชี้ ส.ส.ภารกิจเยอะ แต่ ส.ว.ไม่ต้องทำอะไรเลย ท้าเปิดรายชื่อดูใครทำล่ม

วันที่ 24 ม.ค. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ต่อเนื่องจากการประชุมนัดที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลารอองค์ประชุมกว่า 1 ชั่วโมง จนกระทั่ง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ประธานการประชุมขณะนั้น ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 674 คน องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 337 คน ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อแล้ว 340 คน ถือว่าครบองค์ประชุม จึงสามารถเปิดประชุมได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ จเด็จ อินสว่าง ส.ว. ได้หารือว่า หลายครั้งประชาชนรู้สึกคับข้องใจ อิดหนาระอาใจ เพราะสภาล่ม ตนไม่มีสิทธิก้าวล่วงสภาผู้แทนราษฎร แต่มีหลายครั้งที่ประชุมร่วมรัฐสภาล่ม ทำให้เสียเกียรติศักดิ์และภาพลักษณ์ของทั้งสองสภา วุฒิสภารู้สึกอับอายและคับข้องใจไม่น้อยกว่าประชาชน 

"การประชุมร่วมรัฐสภาทุกครั้ง ส.ว.มาเกินครึ่ง ดังนั้น สภาล่มจึงไม่ได้เกิดจาก ส.ว. จึงอยากแสดงความรู้สึกผ่านไปยังประชาชนเพื่อให้สมาชิกตระหนักในความรับผิดชอบ และตระหนักในเกียรติของสภา"


***อย่าเอาดีเข้าตัว

ทำให้ ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โต้แย้งทันทีว่า การพูดเช่นนั้นเหมือนเอาดีใส่ตัว เอาชั่วเข้าคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรพูดอย่างยิ่งในบรรยากาศแบบนี้ ส.ส.เรามีภารกิจเยอะ ทั้งต้องลงพื้นที่ ต้องประชุมกรรมาธิการฯ ท่านเป็นผู้มีอายุมากแล้วไม่ควรจะพูดแบบนี้ ขอให้ถอดถอนคำดังกล่าวออกไป

"บางครั้ง ส.ส. ถึงกับต้องวิ่งมาเพื่อประคับประคององค์ประชุม แต่ ส.ว.ไม่มีภารกิจอะไรเลย มาพูดแบบนี้ลองมากลางรายชื่อดูไหมว่าที่สภาล่มเป็นเพราะ ส.ว.เองหรือไม่อย่างไร" 

พรเพชร จึงได้ตัดบทว่า ทั้งสองฝ่ายชี้แจงไปแล้ว ขอให้ระงับคำพูดโต้เถียงกัน

ด้าน ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือว่า ประเด็นที่หารือวันนี้มีความสำคัญ เพราะ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กรุณานัดวาระพิเศษเพื่อให้มาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ประชาชนคาดหวังว่าจะได้นำไปดำเนินการประกาศเป็นกฎหมาย อย่าไปโทษใครเลย และวันพรุ่งนี้ (25 ม.ค.) เป็นวาระพิเศษเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างประเทศ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องตระหนักสำนึกว่าเราต้องร่วมมือกันในการลงมติ 

"หลังจากนี้ถ้าเราร่วมมือกัน ใครมาก็มา ใครไม่มาก็ปรากฏชัดเจน เรื่ององค์ประชุมเป็นเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันของรัฐสภา ไม่อยากให้ใครเอาความคิดเห็นข้างนอกเข้ามาพูด"


***เอาชื่อขึ้นกระดาน

จากนั้น สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อไปอีกระยะหนึ่ง เช่น ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อ้างว่าเป็นมติของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ดห็นชอบกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้คือรัฐบาล ผ่านความเห็นชอบของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล และ ส.ว. จึงไม่ถือเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่จะให้ความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าว

ในช่วงหนึ่ง กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นประท้วงให้การประชุมเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย พร้อมระบุว่า ขณะนี้มี ส.ว.มาลงชื่อเข้าประชุมจำนวน 203 คน จาก 250 คน แต่ก่อนจะเอ่ยถึงจำนวนของ ส.ส. พรเพชร ได้ขัดขึ้นว่าเรื่องขององค์ประชุมเป็นข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้อยู่แล้ว

แต่ กิตติศักดิ์ โต้แย้งว่า จำเป็นต้องบอกให้ประชาชนทราบ โดย พรเพชร ยืนยันว่า จะเอารายชื่อขึ้นกระดาน แต่ขอให้ กิตติศักดิ์ นั่งลงก่อน เพื่อให้การประชุมดำเนินต่อไปได้

"หากไม่ให้พูด สงสัยว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือจากสมาชิก" กิตติศักดิ์ กล่าวก่อนจะยอมนั่งลง