ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้เศรษฐกิจไทยปี 2561 ยังได้รับแรงส่งจากเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนตลาดการเงินโลก และปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวกระจายไม่ทั่วถึง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย นัยต่อการดาเนินนโยบายการเงินปี 2561” ในงานสัมมนา THE WISDOM “The Symbol of your Visionary : ก้าวทันเศรษฐกิจ ก้าวนาการลงทุน ปี 2018” โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงส่งหลักจากภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มทยอยปรับดีขึ้น ส่งผลให้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.9 เป็นร้อยละ 4.1 และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 4.1 ต่อเนื่องไปยังปีหน้าด้วย

อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่เหตุใดประชาชนถึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริง อาการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอาจกำลังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อานิสงส์ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งมีความท้าทายเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 3 ประการที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

1. โครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ และจำนวนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง

2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในตลาดแรงงาน

3. หนี้ครัวเรือนที่สะสมมาจากอดีตยังคงอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ความท้าทายเรื่องการกระจายตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียง��ำพัง หรือใช้นโยบายการเงินเป็นหลัก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องตระหนักถึงความสาคัญเร่งด่วนของปัญหา และเข้าใจถึงผลกระทบที่ต้องช่วยกันหาแนวทางแก้ไข

เราจะต้องไม่ลืมว่าไม่มีนโยบายยาวิเศษใดที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างครบถ้วนรวดเร็ว แต่ถ้าเราปล่อยปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ไว้โดยไม่เร่งแก้ไขแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และอาจจะส่งผลข้างเคียงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมตามมาได้อีกมาก

นายวิรไท กล่าวว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในระยะ 6–12 เดือนข้างหน้ามี 3 เรื่องด้วยกันคือ

1. ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก ซึ่งตลาดเงินตลาดทุนอาจเกิดการปรับฐานอย่างรุนแรง (Market correction) ตัวอย่างจากเหตุการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราพบว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากความไม่สอดคล้อง (Mismatch) กันระหว่างมุมมองของนักลงทุนในตลาดกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เมื่อตัวเลขค่าจ้างและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเงินเฟ้อและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จนเกิดเป็นภาวะ Market correction อย่างรวดเร็วและรุนแรง

โดยความเสี่ยงนี้จะเกิดถี่ขึ้นในช่วงเวลา Policy normalization และเป็นความท้าทายของปี 2561 ซึ่งสามารถสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินและตลาดทุน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยระยะยาว รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่จะกระทบต่อคุณภาพของหนี้และความยั่งยืนของผู้ประกอบการได้

2. ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเทศตัวเอง (Inward looking policy) มากขึ้น 

3.การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคและธุรกิจต่างไปจากเดิม 

นายวิรไท กล่าวว่า ปี 2561 นับเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยได้รับแรงส่งจากทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีพื้นฐาน แข็งแกร่งขึ้น และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนและภาครัฐต่อเนื่อง แต่ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังเชื่อมั่นว่าด้วยเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับภาครัฐและเอกชนติดตามประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและรอบด้านจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่จะรองรับแรงปะทะจากความผันผวนและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวกระจายไม่ทั่วถึงและลดทอนศักยภาพการเติบโตในระยะยาวโดยเฉพาะปัญหาโครงสร้างในตลาดแรงงานและปัญหาหนี้ครัวเรือน การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นความท้าทายของพวกเราทุกคนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องมาร่วมลงมือปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวต่อไป