นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ยืนยันความจำเป็นที่คณะผู้สังเกตการณ์ 6 คน ที่ล้วนมีความชำนาญ และหนึ่งในนั้นยังเป็นถึงผู้ก่อตั้งและเป็น ผอ.คนแรกของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ที่องค์กรส่งไปร่วมสังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้างโครงการดาวเทียมธีออส 2 (THEOS – 2) มูลค่า 7,000 ล้านบาท ของ GISTDA ต้องแจ้งขอลาออกทั้งหมด เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ, ไม่สนใจรายงานการแจ้งเตือนทั้ง 4 ฉบับเกี่ยวกับปัญหาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่หลายประเด็นไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรม จึงไม่อาจยอมรับได้
โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนเงื่อนไขจัดซื้อ, วงโคจรดาวเทียมที่เปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญ กรรมการจัดซื้อ 10 คนของ GISTDA เองก็ได้ลงมติ 6 ต่อ 4 ว่า 'ไม่เห็นด้วย' ต่อกระบวนการตั้งแต่ต้น แต่ก็ดึงดันดำเนินการต่อโดยปลดผู้ไม่เห็นด้วยออกและแต่งตั้งคนใหม่อีก 3 คนเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งหากเป็นประเทศอื่น การแจ้งรายงานและผู้สังเกตการณ์ลาออก มีผลถึงขั้นยุติโครงการได้ แต่กรณีของไทยไม่ยึดมาตรฐานสากลดังกล่าวเลย
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ย้ำว่า การใช้ภาษีจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างต้องโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างคุ้มค่า แต่GISTDAอ้างเรื่องความลับทางการค้า จึงไม่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างและการเเข่งขันของผู้ประกวดราคา ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีเฉพาะ และต้องดูกฎหมายระหว่างประเทศว่าบังคับหรือมีรองรับเรื่องความลับทางการค้าต่อเรื่องนี้หรือไม่ด้วย แต่ที่เท่าที่ทราบไม่ปรากฎว่ามีแต่อย่างใด
โดยเห็นว่า เมื่อกระบวนการจัดซื้อมีข้อกังขา หากผู้เกี่ยวข้องยอมถอยหลังหรือทบทวนเพื่อดำเนินการขั้นตอนให้ถูกต้องจนเป็นที่ยอมรับก็สามารถทำได้ ไม่ควรเร่งจัดซื้อ เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย พร้อมหวังให้ทุกภาคส่วนสังคมช่วยกันติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ แม้ว่าระบบรัฐสภาปัจจุบันไม่มีฝ่ายตรวจสอบหรือฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่าพลังของประชาชนและฝ่ายต่างๆจะช่วยป้องกันการทุจริตหรือความไม่ชอบมาพากลของการใช้งบประมาณภาครัฐได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง