ไม่พบผลการค้นหา
6 แกนนำคนอยากเลือกตั้งเข้ารับทราบข้อหา 3/58 ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ด้านทนายความชี้ การแสดงออกเป็นสิทธิตาม รธน.

วันนี้ (19 มี.ค.) แกนนำกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง จำนวน 6 คน คือ นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ อายุ 23 ปี นายสิทธิชัย คำมี อายุ 21 ปี นายยามารุดดิน ทรงศิริ อายุ 21 ปี นายจตุพล คำมี อายุ 21 ปี น.ส.จิตต์ศจีฐ์ นามวงค์ อายุ 56 ปี และ นายอ๊อด แจ้งมูล อายุ 33 ปี ได้เดินทางเข้ารายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 

ข้อหาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการรวมตัวกันจัดกิจกรรม 'รวมพลคนอยากเลือกตั้ง' ชูป้ายเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา และในภายหลัง อัยการผู้ช่วย ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ให้ดำเนินคดีกับบุคคล 6 ราย ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ในวันนี้ทั้งหมดได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา โดยมีมวลชนที่มีทั้งนักศึกษาและประชาชนกว่า 30 คน รวมทั้งนักวิชาการที่เคลื่อนไหวทางด้านการเมืองหลายคน เช่น นายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายชำนาญ จันทร์เรือง รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ รวมทั้ง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่อีกหลายคน มามอบดอกกุหลาบสีแดงให้กำลังใจแกนนำทั้ง 6 คน

หลังจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและสอบปากคำเป็นการเบื้องต้นราว 2 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวทั้งหมดและนัดหมายให้มาพบอีกครั้งในวันที่ 9 เม.ย. เพื่อส่งสำนวนฟ้องต่อพนักงานอัยการ

นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในหกผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และแสดงความเชื่อมั่นว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ และกิจกรรมที่จัดขึ้นไม่มีความรุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคง หลังจากนี้ก็พร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ตามข้อเท็จจริง

ขณะที่นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทางสมาคมจะส่งทนายความเข้ามาช่วยเหลือในคดีนี้ แนวทางการต่อสู้คดี มองว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ทุกคนทำได้ เทียบเคียงได้กับหลายคดีในลักษณะเดียวกันที่ศาลยกฟ้อง แม้ว่าทางฝ่ายทหารจะตีความว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองก็ตาม หลังจากนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะตีความว่ากิจกรรมนี้เป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม