นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการฯ กฟน. กล่าวว่า กฟน. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ในระดับสากล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานทดแทน และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ กฟน. จะมีบทบาทในการร่วมศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล และความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันพัฒนาในพื้นที่จำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. เช่น โครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะสีเขียว T77 บนถนนสุขุมวิท โครงการความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และโครงการความร่วมมือและพัฒนาธุรกิจดิจิทัลพลังงาน โดยทั้งหมดมีการกำหนดกรอบความร่วมมือในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้ กฟน. ได้ผลการศึกษา และสามารถเตรียมพร้อมในการควบคุมจัดการเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย ด้วยระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อให้บริการประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟน. ได้ดำเนินโครงการในด้านเทคโนโลยี และพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) ให้กับหน่วยงานราชการขนาดใหญ่ การจัดทำ MEA Smart Life Application เพื่อเพิ่มความสะดวกในด้านบริการให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ตลอดจนการเป็นหน่วยงานแรกที่ริเริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในกิจการ ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อวิจัยและพัฒนา จนสามารถผลิตเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ได้เองในปัจจุบัน พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยการจัดทำ MEA EV Application บนสมาร์ทโฟน ทั้งระบบ IOS และ Android ด้วยฟังก์ชันการค้นหาสถานีพร้อมจองหัวชาร์จแบบเรียลไทม์ ได้ทุกค่าย มีระบบนำทางไปยังสถานีชาร์จพร้อมควบคุมการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าผ่านระบบรีโมทด้วย แอปพลิเคชันทันที การแจ้งข้อมูลประวัติการชาร์จ การคำนวณอัตราการประหยัดพลังงาน รวมถึงฟังก์ชันอื่นๆ อีกทั้ง กฟน. ยังร่วมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทุกราย ในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทดแทนรถยนต์น้ำมันในอนาคต
ด้านนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดสูงขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้ผู้บริโภคมีความสนใจที่จะผลิตพลังงานสะอาดและใช้เองในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้ตื่นตัวในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและเป็นการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดดังกล่าว ต้องมีการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงนําระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการให้ได้รับความสะดวกสบาย และรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับแนวโน้มใหม่ในด้านพลังงานในอนาคต ที่ผู้บริโภคจะกลายเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) และการผลิตพลังงานจะมาจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ และอยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น (Distributed Energy Resources)
บีซีพีจี ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีความมุ่งมั่นในการลงทุน พัฒนาและดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มดังกล่าว ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เริ่มจากนำเทคโนโลยี blockchain มาทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกับ กฟน. ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของบีซีพีจี ที่จะได้ร่วมกันพัฒนาพลังงานทดแทนและการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศในอนาคต
สำหรับโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะสีเขียว T77 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบีซีพีจี กับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการทดลองระบบในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ กฟน. ได้ให้การสนับสนุนในฐานะหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนองค์กร และมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมเพื่อให้บริการประชาชนด้วยแนวคิด smart metro ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายการจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างสมดุลการใช้พลังงานที่สามารถผลิตได้เองภายในโครงการกับพลังงานที่มาจากสายส่งไฟฟ้าในเครือข่ายของ กฟน.
นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างๆ ที่จะร่วมกันพัฒนาในพื้นที่จำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. ด้วยการต่อยอดสู่การพัฒนาด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงนำ Digital Platform มาช่วยในการบริหารจัดการทางด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นผลดีต่อประเทศในภาพรวมระยะยาวต่อไป