ไม่พบผลการค้นหา
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน ณ กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ซึ่งแม้บรรยากาศการประชุมจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ไม่มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก และที่สำคัญคือไม่มีการพูดถึงเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาค

ร่างแถลงการณ์สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 31 ซึ่งมีความยาว 26 หน้า แทบจะไม่ได้มีการกล่าวถึงปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ของเมียนมา ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยเข้าไปในบังกลาเทศกว่า 600,000 คน และเรื่องสงครามยาเสพติดของนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 12,000 คน จากการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง โดยมีการกล่าวเพียงสั้นๆว่า ชาติสมาชิกอาเซียนกำลังพยายามร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด และสถานการณ์ชาวโรฮิงญาเป็นหายนะที่สามารถแก้ไขได้

นายริชาร์ด เฮย์ดาเรียน นักวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัย De La Salle ในกรุงมะนิลา แสดงความคิดเห็นว่า นายดูแตร์เตฉลาดที่ใช้การประชุมนี้สร้างความชอบธรรมให้กับสงครามกวาดล้างผู้ค้ายาเสพติดของเขา ไม่มีประเทศที่ใดนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด หรือถ้าถูกนำขึ้นมาพูดก็เป็นแค่การพูดถึงเล็กน้อย โดยไม่มีการถกเถียงใดๆเกิดขึ้น ซึ่งประเทศเดียวที่ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าได้หยิบยกเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติดฟิลิปปินส์มาหารือกับนายดูแตร์เต คือนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา

AS02.jpg

การไม่นำประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมาพูดในการประชุมครั้งนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่พอคาดเดาได้ เพราะหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของอาเซียนที่ทุกประเทศตกลงร่วมกันคือจะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก ซึ่งก็ไม่มีประเทศไหนนำเรื่องการกดขี่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมามาพูดต่อหน้านางอองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาเช่นกัน และแต่ละชาติสมาชิกของอาเซียนก็มีปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ต้องการถูกนำขึ้นมาเป็นประเด็นในการประชุมเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ อาเซียนยังไม่สามารถมีมติหรือแสดงความคิดเห็นใดๆในนามอาเซียน เว้นแต่จะมีมติเป็นเอกฉันท์จากชาติสมาชิกเสียก่อน หมายความว่าหากไม่ได้รับการยินยอมจากชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ อาเซียนก็ไม่สามารถออกแถลงการณ์ในเรื่องนั้นๆอย่างเป็นทางการได้

AS04.jpg

ในร่างแถลงการณ์ อาเซียนยังได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามกฎของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และยังได้พูดถึงเรื่องพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ว่าจำเป็นต้องเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ เพื่อให้การเดินเรือและการบินผ่านพื้นที่พิพาทเป็นไปอย่างเสรีและปลอดภัย ซึ่งประเด็นทะเลจีนใต้ เป็นสิ่งที่ดูแตร์เตบอกว่าไม่ควรนำมาพูดในการประชุมครั้งนี้ แต่ก็มีผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในที่ประชุม 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ คือผู้นำอาเซียนและจีนตกลงจะเดินหน้าการเจรจากำหนดแนวปฏิบัติว่าด้วยพื้นที่พิพาทะเลจีนใต้ หรือ Code of Conduct (COC) หลังจากมีการกำหนดกรอบการเจรจา COC มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่ง COC จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้จีนและชาติอาเซียน 5 ประเทศ สามารถบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันได้ และป้องกันไม่ให้จีนหรือชาติใดขยายขอบเขตหรือสร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ทับซ้อนโดยพลการ

อ่านเพิ่ม:

ประเด็นโรฮิงญาสะท้อนวัฒนธรรมปิดปากเงียบในอาเซียน

แคนาดาช่วยโรฮิงญาแม้อาเซียนเพิกเฉย

อาเซียนเจรจาจีนเลี่ยงความขัดแย้งทะเลจีนใต้

ภาพ: AP