ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ระบุในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศเนปาล ยืนยันจะขับเคลื่อนเชื่อมโยงอาเซียนกับเอเชียใต้เข้าด้วยกัน เชื่อมโมเดลไทยแลนด์ 4.0

วันนี้ (30 ส.ค. 2561) เวลา 16.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม โซลธี คราวน์ พลาซ่า กาฐมาณฑุ (Soaltee Crowne Plaza Kathmandu) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4 พร้อมผู้นำ BIMSTEC ได้แก่ ขัทคะ ปราสาท ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เชริง วังชุก หัวหน้าคณะผู้บริหารชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรภูฏาน  นเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย วิน มินต์ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และไมตรี ปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา  

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรอบความร่วมมือ BIMSTEC กำลังเป็นที่สนใจของโลก โดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อม มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ตามนโยบาย Look West ของไทย และ Look East ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้และนโบยาย Act East ของอินเดีย ศักยภาพของ BIMSTEC ประกอบด้วยประชากรวัยทำงานกว่า 1.6 พันล้านคน และ GDP รวมกันกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยในฐานะประเทศผู้ริเริ่มก่อตั้ง BIMSTEC และมีบทบาทที่แข็งขันในเวทีนี้มาโดยตลอด 21 ปีที่ผ่านมา ยืนยันที่จะขับเคลื่อนการเชื่อมโยงประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศเอเชียใต้เข้าด้วยกัน (connect the connectivities) พร้อมยืนยันว่าไทยยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการประชุมประจำปีของหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงประเทศสมาชิก (BIMSTEC National Security Chief) ครั้งที่ 3 ในเดือน มี.ค. 2562 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันไทยพร้อมจะเป็นจักรกลที่จะทำให้ BIMSTEC ขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยนำประสบการณ์และนโยบายด้านการพัฒนาของไทย คือ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาใช้เป็นโมเดลเศรษฐกิจเพื่อนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และแนวคิด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการสนับสนุนธุรกิจและวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งถือเป็นฐานการผลิตของโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เน้นด้านการวิจัยและการพัฒนา พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของประชาชนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและทันกับพลวัตจากภายนอก เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในที่เน้นคนและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่งคง และควบคู่ไปกับการเชื่อมไทยเข้ากับประชาคมโลก