สำนักข่าวสเตรทไทม์สของสิงคโปร์ เผยแพร่บทความของศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2001 ที่วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2018 โดยในบทความดังกล่าว ศาสตราจารย์สติกลิทซ์ยอมรับว่าแม้ในปี 2017 เขาจะเคยทำนายว่าเศรษฐกิจจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จากการเตรียมออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ และการบริหารประเทศของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ไม่ถึงกับเลวร้ายอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้
ปี 2017 ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลทรัมป์จะก่อเหตุวุ่นวายมากมาย และมีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในครม. แต่ความไม่มีประสิทธิภาพของบุคคลในรัฐบาล บวกกับสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ทำให้นายทรัมป์ไม่สามารถทำอะไรที่เป็นรูปธรรมได้มากนัก เช่นข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ก็ยังอยู่รอดปลอดภัยดี แม้การเจรจาจะหยุดชะงักไป ส่วนสงครามการค้าก็ยังไม่ปะทุ โดยวัดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโกที่ยังอยู่ในสภาวะปกติ
ในปี 2017 โลกยังได้เห็นตลาดหุ้นสหรัฐฯทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งศาสตราจารย์สติกลิทซ์กล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่วงล้อวัฏจักรเศรษฐกิจหมุนวนจนเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2007-2008 พอดี โดยนายทรัมป์กลายเป็นผู้โชคดีที่ได้รับผลประโยชน์จากผู้นำคนก่อนหน้าที่พยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐฯ
ในปี 2018 ศาสตราจารย์สติกลิทซ์มองว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการดีขึ้นในระยะสั้น เพื่อไปเผชิญกับความเสี่ยงใหญ่หลวงในอนาคต อย่างในสหรัฐฯ การปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ของทรัมป์ ซึ่งต้องทำให้รัฐสูญเสียรายได้มหาศาล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและนำเงินเข้าสู่วอลสตรีทในระยะสั้น แต่จะทำให้ประเทศกลับไปเผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกับในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อทศวรรษที่แล้ว นั่นก็คือประเทศต้องขาดดุลอย่างหนัก ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจพุ่งสูง และมีแต่คนรวยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์
นอกจากนี้ ทุกฝ่ายยังประมาทต่อผลระยะยาวที่เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจแบบต้านโลกาภิวัตน์ของทรัมป์เกินไป ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯก็ขึ้นอัตราดอกเบี่ยอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงเงินกลับเข้าประเทศ และดึงระบบการเงินให้กลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง หลังจากต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมานานหลายปี ศาสตราจารย์สติกลิทซ์มองว่าทั้งหมดนี้สะท้อนการทำนโยบายแบบหวังผลระยะสั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในอนาคตอย่างแน่นอน
สหภาพยุโรป
การขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐฯยังจะกระทบไปถึงสหภาพยุโรป เพราะหากธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ย อียูก็จำเป็นต้องขึ้นตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่คือชาติที่มีภาระหนี้หนักหนาสาหัสอย่างอิตาลี นอกจากนี้ อียูยังเผชิญปัญหาการเมืองระหว่างชาติสมาชิก เมื่อฮังการีและโปแลนด์ แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยต่อแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนอันเป็นเสาหลักของอียูอีกต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการรับผู้อพยพลี้ภัย
ส่วนอังกฤษ แม้ในปี 2017 จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเตรียมออกจากอียูมากเท่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ อันเนื่องมาจากค่าเงินปอนด์ที่ตกต่ำลง แต่ 1 ปีที่ผ่านมา นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่รู้จะทำอย่างไรกับอังกฤษหลังออกจากอียู ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้อียูและอังกฤษเผชิญกับความเสี่ยงในอนาคต แม้จะไม่ใช่ในปี 2018
นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันปีใหม่ ออกอากาศทั่วประเทศทางโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2018
จีน
ขณะที่จีน แม้ปี 2017 ที่ผ่านมา จะมีการผลักดันโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าระหว่างเอเชียและยุโรปไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีจีนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง แต่ในบ้าน จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ จากการพึ่งพารายได้จากการผลิตเพื่อส่งออก เป็นการพึ่งกำลังซื้อจากภายในแทน และยังเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมภาคการผลิตเป็นภาคบริการ รวมถึงเปลี่ยนจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง ในขณะที่ประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยเต็มขั้น ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม
ศาสตราจารย์สติกลิทซ์มองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนใน 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดจากการปรึกษาหารือและร่วมกันกำหนดนโยบายในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในยุคปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจจีนใหญ่โตและซับซ้อนขึ้น การรวบอำนาจของนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน อาจไม่ตอบโจทย์การวางนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป เพราะการควบคุมสั่งการจากส่วนกลางไม่ใช่วิธีการที่ดีในการจัดการระบบเศรษฐกิจการเงินขนาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันการขาดการจัดระเบียบที่ดี ก็จะทำให้เศรษฐกิจประสบปัญหาใหญ่เช่นกัน
ทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายที่จีนจะต้องผ่านไปให้ได้ แต่ที่แน่ๆ ภายในปี 2018 นี้ รัฐบาลจีนจะยังประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อไป แม้ว่าจะช้าลงอย่างต่อเนื่อง
โดยสรุป ศาสตราจารย์สติกลิทซ์เตือนว่าหลังจากต้องเผชิญกับผลพวงของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มา 1 ทศวรรษ เศรษฐกิจโลกในปี 2018 เข้าสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์แล้ว รัฐบาลเลิกนโยบายรัดเข็มขัดด้านการเงินการคลัง และจะใช้เครื่องมือแทรกแซงทางการเงินน้อยลง ทำให้สภาวะเศรษฐกิจเป็นไปตามธรรมชาติมากขึ้น แต่การรวบอำนาจในจีน การล้มเหลวในการปฏิรูปโครงสร้างของอียู และการปฏิเสธที่จะเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและแสดงบทบาทผู้นำโลกของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวง ไม่เฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังบ่อนทำลายการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยของโลกอีกด้วย เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรปล่อยให้สภาพสวยหรูที่เกิดขึ้นในปี 2018 หลอกให้ตายใจจนหลงลืมความเสี่ยงที่จะตามมาในอนาคต